BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ฉลองอัครเทวดาทั้ง 3

วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี
พระศาสนจักรเชิญชวนให้เราคริสตชนทำการฉลองอัครเทวดามีคาแอล
คาเบรียล และราฟาแอล เป็นสารของพระเจ้าสู่มนุษย์


ฉลองอัครเทวดามีคาแอล คาเบรียล และราฟาแอล



               อัครเทวดามีคาแอล แปลว่า ใครจะยิ่งใหญ่เท่าพระเจ้า เราพบว่าท่านทำหน้าที่ในการกำจัดเทวดา
ที่คิดอยากจะเป็นใหญ่เท่าพระเจ้า คือ ซาตาน ซึ่งในบทอ่านที่หนึ่งเราได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ของท่าน 
และแน่นอนว่า ท่านเป็นผู้ที่ปกป้องพระเจ้า
             อัครเทวดาคาเบรียล แปลว่า ความเข้มแข็งของพระเจ้า เราพบว่าหน้าที่ของท่านคือการแจ้งข่าวดีในการเกิดมา
ของยอห์น บัปติส แก่เศคาริยาห์ และการบังเกิดมาของพระเยซูเจ้า แก่พระนางมารีอา
            อัครเทวดาราฟาแอล แปลว่า การบำบัดรักษาของพระเจ้า เราพบในหนังสือโทบิต เป็นเรื่องราวของโทบิยาห์ 
ลูกชายของโทบิตที่ต้องเดินทางไปหาญาติที่ต่างเมือง และท่านก็ได้ไปเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง 
อีกทั้งยังช่วยให้โทบิตหายจากตาบอดอีกด้วย

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้
พระเยซูเจ้าตรัสกับนาธานาแอลว่า ท่านจะเห็นท้องฟ้าเปิด และจะเห็นบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นลงรับใช้บุตรแห่งมนุษย์
คำพูดของพระเยซูเจ้า ทำให้เราคิดถึง เรื่องราวของยาโคบ ที่ท่านฝันเห็นทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นลงอยู่เหนือท่าน เป็นการเน้น และเป็นการเปิดเผย และเป็นคำสัญญาว่า พระเจ้าจะประทับอยู่กับท่านและลูกหลานของท่านตลอดไป
การที่พระเยซูเจ้าตรัสดังนี้ ก็เป็นการยืนยัน และเป็นการเปิดเผย และบอกว่า พระองค์เป็นความสมบูรณ์ของคำสัญญานั้น พระองค์เป็นบันไดระหว่างสวรรค์และแผ่นดิน ในการบังเกิดมาเป็นมนุษย์ของพระองค์ เป็นการทำให้สวรรค์และแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกัน ความตายบนไม้กางเขนของพระเยซูเจ้าเป็นการทำลายบาป ทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้ และผ่านทางการกลับคืนพระชนมชีพ เป็นประตู เป็นหนทางทำให้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับพระเจ้า การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์เป็นการเปิดกว้างออกสำหรับเรา และเป็นการนำสวรรค์ลงมาสู่แผ่นดิน ในแต่ละวัน ในชีวิตของเรา ในการเข้าสู่การมีส่วนร่วมกับชีวิตของพระองค์ในชีวิตประจำวัน

ข้อคิดสำหรับเราในโอกาสฉลองอัครเทวดาทั้ง 3 องค์ ก็คือ
                   ใครจะยิ่งใหญ่เท่าพระเจ้า หมายถึง การปกป้องพระนามของพระเจ้า รวมทั้งปกป้องความดีของพระเจ้า 
ด้วยการกระทำให้ความดี ด้วยการเป็นพยาน ด้วยการนำคำสอนและคุณงามความดีของพระเจ้
มาปฏิบัติให้เป็นจริงในชีวิตของเรา
                    และเป็นเครื่องหมายว่า พระเจ้าสำคัญที่สุด พระเจ้ายิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเรา 
                    พระเจ้าเป็นที่หนึ่งในชีวิตของเรา พระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
                   ความเข้มแข็งของพระเจ้า หมายถึง การไว้วางใจในพระเจ้า วางใจในการเอาใจใส่ของพระเจ้าต่อเราทุกคน 
และในทุกสถานการณ์ของชีวิต ดูตัวอย่างแม่พระ วางใจในพระเจ้า 
ยอมให้แผนการของพระเจ้าเกิดขึ้นจริงในชีวิตของพระนาง ทั้ง ๆ อะไร ๆ ก็ยังไม่ชัดเจน 
และ มีปัญหาอยู่ แต่วางใจในพระเจ้า เพราะพระองค์ประทานความเข้มแข็งแก่เรา
                  เป็นการประกาศถึงพระประสงค์ของพระเจ้า ประกาศถึงแผนการของพระเจ้า 
และทำให้เราเห็นว่า พระเจ้ามีแผนการของพระองค์สำหรับเราเสมอ สิ่งสำคัญคือ 
 การยอมรับและเดินตามแผนการของพระองค์
การบำบัดรักษาของพระเจ้า หมายถึง การให้ความรัก การแบ่งปัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 
เป็นเสมือนยา ที่มีอำนาจมากที่สุด ที่จะเยียวยารักษาสังคม และหมู่คณะของเราได้ 
และเราจะต้องเป็นยานั้นเพื่อเยียวยากันและกัน
และเป็นเครื่องหมายถึง การนำทาง การเป็นเพื่อน การนำเราไปหาองค์พระผู้เป็นเจ้า อีกด้วย



วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเทศน์: อาทิตย์ 26 ธรรมดาปี A

                                                                อสค 18:25-28 
                                                                ฟป 2:1-11 
                                                                มธ 21:28-32


แบ่งปันความคิด (Omelia)





 

บทพระวรสาร

เรื่อง การรับฟังพระวาจาของพระเจ้าและนำไปปฏิบัติ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
มิใช่ ฟัง แล้ว ก็นิ่งเฉย


สิ่งที่เกิดขึ้น
       ชายคนหนึ่งมีลูกสองคน เขาไปบอกลูกคนแรกให้ไปทำงานที่สวน ลูกคนแรกก็ตอบว่า "ครับ"
                แต่ก็ไม่ได้ไปทำงาน
       เขาไปบอกลูกชายคนที่สองเช่นเดียวกัน ลูกคนที่สองตอบว่า "ผมไม่อยากไป" แต่แล้วก็เปลี่ยนใจ
               และเขาก็ไปทำงานในสวน

แล้วพระเยซูเจ้าถามว่า ใครทำตามใจของพ่อ?  ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ลูกคนที่สอง"

สังเกตว่า การทำตามใจพ่อ 

ไม่ใช่ การรับฟัง และการตอบรับว่า ครับ  ผมจะทำ  ผมจะไป เพียงแค่ต่อหน้า เพื่อเอาหน้า
ซึ่งเป็นเสมือนการเอาอกเอาใจ พูดตอบรับ เพียงเพื่อให้ผ่านพ้นไป
หาความจริงใจไม่มีเลย อยากให้พ่อสบายใจ เพียงแค่ลมปากเท่านั้น
คนประเภทนี้ เป็นเหมือนกับพวกผู้ดี แต่ปาก  หรือ ประเภทที่ดีแต่พูด ปากดี เท่านั้นเอง

การทำตามใจพ่อ เป็นการฟัง แม้จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน หรือ เกิดความไม่พอใจ ซึ่งก็เป็นการ
แสดงออกถึงเสรีภาพของบุคคล เป็นการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ถึงความใส่ใจ
ซึ่งปฏิกิริยาตรงนี้ ไม่สำคัญมากเท่าใดนัก เพราะว่า ความรู้สึกนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อเห็นความจริง ความถูกต้อง ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความสำนึก แล้วก็จะเกิด
การกลับใจ เหมือนกับลูกคนที่สอง ที่กลับใจในเวลาต่อมา
และสิ่งสำคัญของการฟัง ก็คือ การนำไปปฏิบัติ..

คนที่ปฏิบัติตามคำของเรา ก็คือ บิดามารดาและพี่น้องของเรา
คนที่ฟังพระวาจาและนำไปปฏิบัติก็คือคนที่สร้างบ้านบนหิน แข็งแรงมั่นคง
คนที่ฟังพระวาจาและนำไปปฏิบัติก็คือ เมล็ดที่ตกลงบนดินดี เกิดผลร้อยเท่า

บทอ่านที่หนึ่ง

คนชั่วละทิ้งความชั่วแล้วทำความดี ก็จะได้รับการอภัยจากพระเจ้า
คนดีที่ละทิ้งความดีแล้วหันกลับไปทำความชั่ว เขาจะตายเพราะความชั่วของเขา

การให้อภัย เป็นการให้สำหรับคนที่สำนึกผิด  คนที่รู้ตัวว่าทำผิด ทำบาป ทำในสิ่งที่ไม่ดี
เพื่อเป็นโอกาสให้กลับใจและเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้ทำสิ่งดี

เป้าหมายของการดำเนินชีวิตก็คือ ความดี

ถ้าคนหนึ่งละทิ้งความดี และหันไปทำชั่ว ก็แสดงว่า เขาเลือกที่จะทำชั่ว และต้องการเป็นคนชั่ว
ถ้าคนหนึ่งละทิ้งความดีงาม เพื่อไปหมกมุ่นกับความชั่ว ก็แสดงว่า เขาเห็นความชั่วดีกว่าความดี
แล้วเขาจะตายเพราะความชั่ว  เขาจะไม่ได้รับความรอดจากความดีที่กระทำ

การกลับใจ จึงเป็นกระบวนการจากความชั่วไปสู่ความดี
ไม่ใช่ จากคนดี กลายเป็น คนชั่ว..

แล้วเราจะทำอย่างไร?

หนึ่ง  จงทำความดีอย่างสม่ำเสมอ และตลอดไป
สอง  จงทำความดีในการกระทำ ไม่ใช่ทำความดีเพียงแค่คำพูด ปากเปล่าเท่านั้น
สาม  จงทำความดีตั้งแต่วันนี้  เวลานี้ ไม่ใช่ผลัดวันประกันพรุ่ง หรือ เอาไว้ก่อน เอาไว้ทีหลัง
สี่      จงทำความดีในทุกสถานการณ์ของชีวิต แม้แต่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด หรือ
         สถานการณ์ที่บีบบังคับก็ตาม เพราะความดีเป็นความดีที่ต้องทำตลอดเวลา
ห้า   จงหันตัวเองออกจากความชั่ว และมุ่งสู่ความดีเสมอ
หก   พึงรู้และตระหนักเสมอว่า การกระทำย่อมดีกว่าคำพูดเสมอ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเทศน์: อาทิตย์ 25 ธรรมดาปี A

                                                                                                                                        
                                                                                                               อสย 55:6-9
                                                                                                               ฟป 1:20ค-24,27ก
                                                                                                               มธ 20:1-16

   แบ่งปันความคิด (Omelia)
                                                        


ความยุติธรรมของมนุษย์ กับ ความใจดีของพระเจ้า

ตามธรรมชาติของมนุษย์
·        ไม่ต้องการให้ใครมาเอารัดเอาเปรียบ
·        ไม่ต้องการเสียผลประโยชน์ให้กับใคร
·        ต้องความเท่าเทียมเสมอกัน
ความยุติธรรม
·  จึงเป็นความดีสำหรับมนุษย์ในการแสดงออกถึงความเท่าเทียมเสมอกัน หรือ การไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
·  จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ถูกเรียกร้องให้ทุกคนได้แสดงออกมา และทุกคนต้องถือปฏิบัติตาม 
     เพื่อการอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข
·  จึงเป็นเหมือนกฎพื้นฐานที่ทุกคนต้องการและต้องเคารพ เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง 
     หรือ เพื่อคุ้มครองสิ่งที่ตนเองมีอยู่
ตัวอย่าง
·   ทำดี ย่อมได้ดี เป็นความยุติธรรม ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว หรือ การลงโทษ นี่ก็เป็นความยุติธรรม 
      เพื่อปกป้องคนดี เพื่อลงโทษคนที่ละเมิดต่อสิทธิของคนอื่น
·  ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดูเหมือนเป็นเครื่องมือที่แสดงออกถึงความยุติธรรมในสังคม นั่นคือ ใครทำอะไรกับใคร ย่อม
     ต้องถูกเอาคืนอย่างนั้น ไม่มีข้อยกเว้น
·  หญิงคนหนึ่งทำผิดประเวณี มีชู้ ผิดผัว ผิดเมียคนอื่น ตามกฎแห่งความยุติธรรมหญิงคนนี้ต้องถูกลงโทษ 
     เอาหินทุ่มใส่จนตาย ถ้าคิดตามประสามนุษย์ก็สมควรและยุติธรรมแล้ว เพราะไปแย่งสามีคนอื่น 
     หรือ ทำผิดต่อความบริสุทธิ์ เมื่อมาหาพระเยซูเจ้า..พระองค์ตรัสว่า ใครไม่เคยทำบาป ก็เอาหินทุ่มเป็นคนแรก... 
     นี่มันผิดความยุติธรรม  ทำไมพระเยซูเจ้าจึงตรัสเช่นนี้..แล้วก็ปล่อยนางไป
ความใจดีของคนคนหนึ่ง
·  ความใจดีเป็นสิ่งที่ออกมาจากภายใน ภายในหัวใจของบุคคลหนึ่ง ๆ ที่มองเห็นสิ่งหนึ่ง 
    แล้วเกิดความรู้สึกสงสาร เกิดความต้องการที่อยากจะช่วยเหลือ อยากที่จะหยิบยื่นบางสิ่งบางอย่างให้ 
    เพื่อให้เกิดผลดีต่อคนอื่น
· ความใจดีเป็นสิ่งที่ให้ฟรี ๆ
· ความใจดีเป็นสิ่งที่ให้เปล่า ๆ
· ความใจดีไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน หรือ ไม่มีแม้แต่เงื่อนไขใดใดทั้งสิ้น
· ไม่มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับ
· เป็นความบริสุทธิ์ใจล้วน ๆ ปราศจากสิ่งเจือปน เพื่อคนอื่น

พระวาจาของพระเจ้า
พ่อบ้านออกไปหาคนมาทำงานในสวนแต่เช้าตรู่ พบคนกลุ่มหนึ่งและตกลงกันค่าจ้าง 1 เหรียญ 
(เงิน 1 เหรียญเป็นค่าเลี้ยงชีพใน 1 วัน) ตอนสาย ก็ออกไปอีก และพบคนกลุ่มหนึ่ง 
ก็บอกว่า จะให้ค่าจ้างตามสมควร เที่ยงและบ่ายสามโมงก็ทำเช่นกัน ประมาณห้าโมงเย็นก็ออกไปอีก 
พบคนกลุ่มหนึ่งยืนอยู่ทั้งวัน โดยไม่ได้ทำงาน พ่อบ้านถามทำไมไม่ไปทำงาน พวกเขาตอบว่า ไม่มีใครจ้าง
 แล้วพ่อบ้านก็ให้ไปทำงานในสวนประมาณหนึ่งชั่วโมง
เมื่อถึงเวลาจ่ายค่าจ้าง
       คนที่มาสุดท้ายทำงานแค่ชั่วโมงเดียว ได้ 1 เหรียญ
              คนที่ทำงานตั้งแต่เช้าตรู่ก็ได้คนละ 1 เหรียญ และคนพวกนี้ก็บ่นคล้าย ๆ กับว่า ไม่ยุติธรรม 
เพราะว่าคนทำงานน้อยก็ควรได้น้อย คนทำงานมากก็ควรได้มาก
พ่อบ้านบอกว่า เราตกลงกับท่านแล้วว่า 1 เหรียญ ท่านก็ได้แล้ว
ส่วนคนที่ทำงานน้อย เราให้ 1 เหรียญก็เป็นสิทธิ์ของเรา เราไม่มีสิทธิ์ใช้เงินของเราหรือ?

สิ่งที่สำคัญก็คือ
ต้องการจะบอกว่า ให้เรามองดูกันและกันด้วยความรัก ความเมตตา ความมีน้ำใจต่อกัน 
มากกว่าความยุติธรรมตามประสามนุษย์
ถ้าหากว่า คนกลุ่มสุดท้ายไม่ได้เงิน 1 เหรียญในวันนี้..เขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้ออาหาร ซื้อกับข้าว 
หรือ เลี้ยงชีพและครอบครัวของตัวเอง พวกเขาไม่ใช่ว่าขี้เกียจ แต่เพราะว่า ไม่มีใครว่าจ้าง 
จึงทำให้พวกเขาต้องยืนอยู่ทั้งวัน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีความสามารถ แต่เพราะไม่มีใครว่าจ้าง

จุดนี้ต่างหากที่เรา ควรจะมองกันและกัน และเห็นใจกันและกัน


วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ฉลองอารามรักกางเขน 2011

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2011
คณะอารามรักกางเขนแห่งท่าแร่ได้เชิญทุกคนจากทั่วมิสซังและนอกมิสซังมาร่วมฉลองอารามในปีนี้
ซึงงานฉลองก็ผ่านไปได้อย่างเรียบร้อยเป็นอย่างดี
ในปีนี้ มีฉลอง 50 ปี และ 25 ปีของการปฏิญาณตนของซิสเตอร์ 3 รูป อีกด้วย


ภาพจากปกหนังสือเพลงในพิธี

เริ่มตั้งขบวนแห่ที่อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่

มีบรรดาน้องนางสันตะฯ บรรดาน้องเณรฟาติมา บรรดาพระสงฆ์ บรรดาซิสเตอร์และสัตบุรุษ
มาร่วมแห่กางเขน..อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา..


แต่..เจ้าตัวนี้..มาทำอะไร???




เบื้องหลัง



เบื้องหน้า



ดูเหมือนว่าทุกคนมีความสุข..ที่ได้มาร่วมฉลองอารามในปีนี้..
แต่ละคน มีรอยยิ้ม.. และ ฟัน..หลายซี่ด้วย..



บรรยากาศภายในอาคาร..


พระคุณเจ้าให้โอวาทหลังมิสซา

"ให้เรามองดูหิ่งห้อย
ให้เราเป็นเหมือนกับหิ่งห้อย
ที่ทำหน้าที่ในการเปล่งแสง"

แต่..

ระวังอย่างหลงไปกับแสงหิ่งห้อย
ระวังอย่าติดใจกับแสงของหิ่งห้อย
เพราะไม่ใช่หน้าที่
เพราะไม่ใช่บทบาท
เพราะไม่ใช่ความเป็น
ของเรา

เป็นซิสเตอร์
ต้องเปล่งแสงแห่งความรัก
เป็นซิสเตอร์
ต้องเปล่งแสงแห่งความเมตตา
เป็นซิสเตอร์
ต้องเปล่งแสงแห่งการให้อภัย

กางเขน
เป็นอุดมการณ์ของซิสเตอร์
ที่ต้องแบกทั้งของตัวเองและของคนอื่น

กางเขน
เป็นหนทางของการเป็นซิสเตอร์
ที่ต้องนำเข้ามาเป็นชีวิตของตนเอง

เพราะบนกางเขน
องค์พระเยซูเจ้าประทับอยู่ที่ั่นั่น


วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

บทเทศน์: อาทิตย์ 24 ธรรมดาปี A

สัปดาห์ที่ 24 เทศกาลธรรมดา
                                                                                                       
                                                                                                                 บสร 27:30-28:7
                                                                                                                 รม 14:7-9
                                                                                                                 มธ 18:21-35

แบ่งปันความคิด (Omelia)



การยกโทษและการให้อภัย

ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่?
คำตอบก็คือ ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง หมายความ ต้องยกโทษให้เสมอ..

เราต้องให้ยกโทษและให้อภัยพี่น้องของเรา เสมอไป และ ตลอดไป

ทำไมต้องทำอย่างนั้น?
เพราะว่า เราได้รับการยกโทษและเราได้รับการอภัยจากพระเจ้าเสมอและตลอดไป 
นี่คือ เหตุผลเดียว และเป็นเหตุผลที่หนักแน่นพอที่จะทำให้เราสามารถให้อภัยและยกโทษให้คนอื่นได้ตลอดไป

เพราะพระเจ้าให้อภัยและยกโทษความผิด ความบาป ความบกพร่องของเราเสมอ 
               ไม่ว่ากี่ครั้ง ไม่ว่าครั้งใด เมื่อเราเข้ามาหาพระองค์ เมื่อเราสำนึกผิด เมื่อเรายอมรับผิด 
พระองค์ก็พร้อมที่จะให้อภัยเราเสมอ ทั้ง ๆ ที่บาปเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้พระองค์ต้องตาย 
เพราะบาปของเรา ทำให้พระองค์ต้องถูกตรึงกางเขน และตายบนไม้กางเขนนั้น  แต่พระองค์ก็สามารถให้อภัยได้
พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยให้เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร?

เราซึ่งเป็นศิษย์ของพระองค์ เราก็จะต้องทำตรงนี้ให้ได้ ให้เป็นจริงในชีวิตของเรา แม้จะยาก แม้จะลำบาก 
หรือแม้จะใช้เวลานานกี่วัน กี่เดือน กี่ปี หรือ ตลอดชีวิตของเราก็ตาม

แล้วพระเยซูเจ้า ก็เล่าอุปมาเพื่อสอนเราทุกคนถึง การให้อภัยของพระเจ้า และ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ 
นั่นคือ กษัตริย์ได้ตรวจบัญชีผู้รับใช้ ก็เห็นว่า คนหนึ่งเป็นหนี้อยู่เป็นพันล้านบาท 
และไม่มีสิ่งใดจะชดใช้ได้หมด กษัตริย์จึงสั่งให้ขายตัวเขา ภรรยาและทรัพย์สมบัติที่มีทั้งหมดเพื่อใช้หนี้.. 

การขายตัวเอง ขายภรรยา และทรัพย์สมบัติ เป็นการยืนยันว่า ชายคนนี้มีหนี้สินมากจริง ๆ เมื่อชายคนนี้เข้ามาคุกเข่า อ้อนวอน ขอผลัดไว้ก่อน กษัตริย์สงสาร จึงยกหนี้ให้.. 
นี่คือ ความรัก ความสงสาร พระเมตตาของพระเจ้า ที่พระองค์ให้อภัยเราเสมอ ไม่ว่าเราจะทำบาป ทำผิดต่อพระองค์ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 
ขาดวัดวันอาทิตย์บ้าง ไม่สวดภาวนาบ้าง เชื่อหมอดู ถือบุญกรรมวาสนา ดูดวง ดูวัน ดูทิศดูทาง เชื่อฝัน 
โชคลางต่าง ๆ พระเจ้าก็ให้อภัยเราเสมอ และยกโทษให้เราตลอดเวลา 
เพียงเราเข้ามาหาพระองค์ คุกเข่าลง อ้อนวอนขอพระเมตตาจากพระองค์

ชายคนนี้ เมื่อพบกับเพื่อนที่เป็นหนี้ตนเอง เพียงนิดหน่อย ก็ตรงเข้าไปคว้าคอ บีบไว้แน่น  และพูดว่า 
จงจ่ายหนี้มาให้หมด.. เพื่อนคนนั้นก็ คุกเข่าลง อ้อนวอน ขอผลัดไว้ก่อน 
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ชายคนนี้ไม่ยอมยกหนี้ให้เพื่อน 

เขาจึงนำเพื่อนของตนไปขังคุกไว้ จนกว่าจะชำระหนี้จนหมด..
สังเกตว่า ชายคนนี้ไม่ได้สั่งให้เพื่อนขายตัว ขายภรรยา และทรัพย์สมบัติที่มี 
แสดงว่า เขาเป็นหนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น.. 
แต่ชายคนนี้ ไม่ยอมยกหนี้ให้ เขาคิดถึงตัวเอง ว่าตัวเองต้องได้คืนมา ตัวเองต้องได้ตามความยุติธรรม 
คุณเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย ก็เป็นการถูกต้องแล้ว..เหมือนกับกฎที่ว่า

ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เป็นความยุติธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกัน..

การอยู่ร่วมกัน ย่อมเกิดขึ้นบ้าง ในการกระทบกระทั่งกัน การพูดจาเหน็บแนม ส่อเสียด หรือ ใส่ร้ายป้ายสีกัน หรือไม่ก็คดโกงกัน ไม่ซื่อตรงต่อกัน โมโห ทะเลาะวิวาทกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ การรู้จักให้อภัย การรู้จักเมตตาต่อกัน
ผลที่เกิดผลตามมา เมื่อ เราไม่รู้จักให้อภัย หรือไม่ยอมยกโทษให้คนอื่นก็คือ การไม่ได้รับการอภัยจากพระเจ้า

เมื่อกษัตริย์ทราบความจริงว่าคนที่ตนยกหนี้ให้ กลับไม่ยอมยกหนี้ให้เพื่อนด้วยกัน กษัตริย์กริ้วมาก 
และตรัสว่า เจ้าคนสารเลว..ข้ายกหนี้ให้เจ้า เจ้าควรจะยกหนี้ให้กันไม่ใช่หรือ? 
แล้วรับสั่งให้นำคนนั้นไปขังคุกไว้ จนกว่าจะชำระหนี้หมดสิ้น..

พี่น้องที่เคารพรัก พระเยซูเจ้าพระองค์สอนเราให้รักคนอื่น เหมือนรักตนเอง 
พระองค์สอนเราให้รักแม้แต่ศัตรูของเรา แม้แต่คนที่เกลียดชังเรา

นักบุญเปาโล บอกเราว่า ไม่มีพวกเราคนใดที่มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง หรือ ตายเพื่อตัวเอง 
แต่เรามีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า ถ้าตายก็ตายเพื่อพระเจ้า

การให้อภัยความผิด และการยกโทษให้กับเพื่อนพี่น้อง มันเป็นความยากลำบาก 
แต่มันก็เป็นการแสดงออกว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่อพระเจ้า 
เราละลายชีวิต ละลายจิตใจของเราก็เพื่อมีชีวิตอยู่กับองค์ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง 
ถ้าเราตายก็ตายเพื่อพระเจ้า นั่นก็คือ การตายต่อน้ำใจของตัวเอง การตายต่ออคติ 
หรือต่อความรู้สึก ความปรารถนาที่ไม่ดีต่าง ๆ นี่เป็นการตายเพื่อพระองค์

ถ้าเราไม่ตายต่อตัวเอง ชีวิตใหม่ในพระเจ้า สิ่งดีงามของพระเจ้าย่อมไม่เกิดขึ้นในชีวิตของเราแน่นอน
ถ้าเราไม่ตายต่อน้ำใจ ความคิด และเหตุผลของตัวเอง พระวาจาของพระเจ้าก็ไม่สามารถงอกขึ้นได้

เราต้องตระหนักเสมอว่า
ทุกคนสามารถผิด และ บกพร่อง อ่อนแอได้
เราให้อภัยคนอื่น มิใช่เพื่อคนอื่น แต่เพื่อตัวของเราเอง ยิ่งเราให้อภัยคนอื่นได้มากและง่ายเท่าใด 
                  เราก็ยิ่งจะสามารถให้อภัยตัวเอง มากเพิ่มขึ้นได้เท่านั้น
การให้อภัยเป็นการกระทำที่เราทุกคนสามารถทำได้ มิใช่สงวนไว้สำหรับพระเจ้าเท่านั้น
พระเจ้าให้อภัยเราได้ ทำไมเราจะให้อภัยคนอื่นไม่ได้
ให้เราวอนขอ พระหรรษทานจากพระเจ้าเสมอ เพื่อเราจะได้เข้มแข็ง 
                  และกล้าที่จะให้อภัย แม้คนที่ทำผิดต่อเราหลาย ๆ ครั้งได้
คนที่ไม่ให้อภัยคนอื่น แสดงว่า ตัวของเขาเองก็ไม่ปรารถนาที่จะรับการอภัยจากคนอื่น 
                  และจากพระเจ้าเช่นเดียวกัน
                  หรือว่า เราไม่ต้องการรับการอภัยจากพระเจ้า...

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

เทศน์บทหนึ่ง

พระวรสารโดยนักบุญลูกา 6:43-49

บทเทศน์


พระเยซูเจ้าสอนเราว่า เมื่อเราได้ยินพระวาจาของพระเจ้าแล้ว..สิ่งที่ควบคู่กันไปก็คือ การนำไปปฏิบัติ ซึ่งจะขาดจากกัน
              ไม่ได้เด็ดขาด เหมือนกับบทสรุปของพระบัญญัติที่ว่า จงรักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ  
               และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตัวเอง นั่นแหละ นั่นก็คือ รักพระเจ้าแสดงออกโดยรักตัวเองและเพื่อนมนุษย์           นี่ก็เช่นกัน ได้ยินได้ฟังพระวาจาของพระเจ้าแล้วก็ต้องนำไปปฏิบัติ..
              หากฟังแล้วไม่ปฏิบัติ ก็เหมือนคนสร้างบ้านบนดินไม่มีรากฐาน.. 
              ลมพัดมา น้ำไหลมา ก็ทำให้บ้านนั้นพังลงไปแล้ว มองดูเถียงนาน้อย..ปลูกบนที่นา..ลมพัดแรง 
              หลังคาก็ไปเสียแล้ว ฝนตกมา ฝาเถียงนาก็กระจุยกระจายแล้ว..ง่ายมาก
หากฟังพระวาจาแล้วนำไปปฏิบัติ..เหมือนคนที่สร้างบ้านบนหิน ดิน ที่แน่น เมื่อมีลมพัดมา ฝนกระหน่ำเข้ามา..

ก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ เพราะมีรากฐานอันแข็งแรง เช่น เราเห็นตึก อาคาร โรงเรียนของเรา ที่มีการขุด 
มีการตอกเสาเข็ม ให้ลึก ๆ เพื่อต้านน้ำหนักของตัวอาคารได้.. หนักแน่นและมั่นคง..

การฟังคำพูดของคนใดคนหนึ่ง แล้วนำคำพูดของคนนั้นมาปฏิบัติ ก็แสดงว่า คนที่ฟังนั้นยอมรับ 
และเห็นด้วยกับคำพูดของคนนั้น
แสดงว่า คนที่ฟังนั้น เอาตัวเองไปฝากไว้กับคำพูดของคนนั้นโดยที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นจริง
สำหรับชีวิตของตนเอง
แสดงว่า คนที่ฟังนั้น มั่นใจและเชื่อมั่นในคนที่พูดว่า จะนำชีวิตของตัวเองไปในทางที่ดีและถูกต้อง

เมื่อ ฟังสิ่งที่ดี เข้าใจสิ่งที่ดี และนำสิ่งที่ดีไปปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือ ความดี
เมื่อ ฟังสิ่งที่ไม่ดี เข้าใจสิ่งที่ไม่ดี และนำสิ่งไม่ดีไปปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลตามมาก็คือ ความชั่ว
เมื่อ ฟังสิ่งที่ดี เข้าใจสิ่งที่ดี แต่ปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดี ผลที่ตามมาก็คือ ความชั่ว

พระเยซูเจ้าจึงบอกว่า ต้นไม้พันธุ์ดี ย่อมให้ผลดี ต้นไม้พันธุ์เลวย่อมเกิดผลเลว ต้นไม้พันธุ์ดีจะต้องเป็นต้นไม้ดีทั้งต้น ตั้งแต่ราก ลำต้น ตลอดจนกิ่งก้าน รวมทั้งดอก และ ผล ที่ออกมาก็จะเป็นไม้พันธุ์ดี
เรารู้จักคนอื่น หรือ คนอื่นรู้จักตัวของเราได้ ไม่ใช่เพราะหน้าตาดี หน้าตาสวย แต่งตัวดี หน้าขาวใส แล้วจะเป็นคนดี ไม่ใช่
เรารู้จักคนอื่น หรือ คนอื่นรู้จักตัวของเราได้จาก การกระทำของเรา.. ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเล็กน้อย หรือ การกระทำที่ใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นคำพูดคำจา หรือ กิริยามารยาท เพราะสิ่งที่เรากระทำ..มักจะออกจากตัวตนของเราทั้งครบ ในความเป็นบุคคลของเรา
คนดี ย่อม เอาสิ่งที่ดีที่มีอยู่ ออกมา จากใจของตนเอง
เช่นเดียวกัน คนชั่ว ก็ย่อม เอาสิ่งที่มีอยู่ในใจออกมาเช่นกัน

คำพูด เป็นสิ่งที่เราต้องพึงระวัง.. เพราะคำพูดทุกคำ มันเปิดเผยตัวตนของเรา เพราะคำพูดทุกคำเป็นตัวแทนของชีวิตของเรา พูดดี ก็ได้ดี พูดร้าย ก็ได้เสีย...

อยู่คนเดียว ระวังความคิด อยู่กับมิตร ระวังคำพูด..

ฟังพระวาจา แล้วต้องนำไปปฏิบัติ
เพราะการปฏิบัติเท่านั้น จึงจะเกิดผล
ผลไม่ได้เกิดที่หู แต่เกิดขึ้นที่มือทำ เท้าเดิน ปากประกาศ



วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

สัมมนาสงฆ์ท่าแร่ฯ

วันที่ 9 กันยายน 2011
ณ สำนักอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้จัดสัมมนาสมณสาส์นของพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2
"พระศาสนจักรในเอเซีย" Ecclesia in Asia เพื่อความเข้าใจและหยั่งรากลึกมากขึ้นในความจริง
ของบริบทเอเซีย

บรรยากาศทั่ว ๆ ไป


พระคุณเจ้าแบ่งปันกับคณะสงฆ์





ฝ่ายลงทะเบียน (สนุกสนาน ไม่ไร้สาระ)





เนื้อหา



INTRODUCTION

The Marvel of God's Plan in Asia [1] 
Background to the Special Assembly [2] 
The Celebration of the Special Assembly [3] 
Sharing the Fruits of the Special Assembly [4] 

CHAPTER I
THE ASIAN CONTEXT

Asia, the Birthplace of Jesus and of the Church [5] 
Religious and Cultural Realities [6] 
Economic and Social Realities [7] 
Political Realities [8] 
The Church in Asia: Past and Present [9] 

CHAPTER II
JESUS THE SAVIOUR:
A GIFT TO ASIA

The Gift of Faith [10]
Jesus Christ, the God-Man Who Saves [11] 
The Person and Mission of the Son of God [12] 
Jesus Christ: the Truth of Humanity [13]
The Uniqueness and Universality of Salvation in Jesus [14] 

CHAPTER III
THE HOLY SPIRIT:
LORD AND GIVER OF LIFE

The Spirit of God in Creation and History [15] 
The Holy Spirit and the Incarnation of the Word [16] 
The Holy Spirit and the Body of Christ [17]
The Holy Spirit and the Church's Mission in Asia [18]

CHAPTER IV
JESUS THE SAVIOUR:
PROCLAIMING THE GIFT

The Primacy of Proclamation [19] 
Proclaiming Jesus Christ in Asia [20] 
The Challenge of Inculturation [21] 
Key Areas of Inculturation [22]
Christian Life as Proclamation [23] 

CHAPTER V
COMMUNION AND DIALOGUE
FOR MISSION

Communion and Mission Go Hand in and [24] 
Communion within the Church [25]
Solidarity among the Churches [26] 
The Catholic Eastern Churches [27] 
Sharing Hopes and Sufferings [28] 
A Mission of Dialogue [29] 
Ecumenical Dialogue [30]
Interreligious Dialogue [31] 

CHAPTER VI
THE SERVICE OF HUMAN PROMOTION

The Social Doctrine of the Church [32] 
The Dignity of the Human Person [33] 
Preferential Love of the Poor [34] 
The Gospel of Life [35] 
Health Care [36] 
Education [37]
Peacemaking [38] 
Globalization [39] 
Foreign Debt [40] 
The Environment [41] 

CHAPTER VII
WITNESSES TO THE GOSPEL

A Witnessing Church [42] 
Pastors [43] 
The Consecrated Life and Missionary Societies [44] 
The Laity [45] 
The Family [46] 
Young People [47] 
Social Communications [48] 
The Martyrs [49] 

CONCLUSION

Gratitude and Encouragement [50] 
Prayer to the Mother of Christ [51] 


วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2554

เข้าเงียบสงฆ์เดือนกันยายน 2011

วันที่ 6-7 กันยายน 2011 เป็นช่วงเวลาเข้าเงียบ ฟื้นฟูชีวิตของสงฆ์ เพื่อติดตามองค์พระเยซูเจ้า
เป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะของบรรดาสงฆ์
เป็นช่วงเวลาของการหล่อเลี้ยงชีวิต กระแสเรียก

ผู้เทศน์ในเดือนนี้ก็คือ คุณพ่อชัยวัฒน์ นำสุย




บทเทศน์  เรื่องผู้หว่าน

ผู้หว่านออกไปหว่านเมล็ดพืช

บางเมล็ดตกลงบนดินปนหิน เหมือนกับ ผู้ที่ปิดใจตัวเอง มีอคติ มีความรู้สึกไม่ดี หยิ่งยโส มั่นใจในตัวเอง
และกลัวการเปลี่ยนแปลง

คนที่ตาบอดสนิทที่สุดก็คือ คนที่ปิดใจตัวเอง นั่นเอง

บางเมล็ดตกลงบนหิน เหมือนกับ ผู้ที่ปิดปัญญาตัวเอง มองไม่เห็นสิ่งใด ใจแข็งกระด้าง..

บางเมล็ดตกลงในพงหนาม เหมือนกับ ผู้ที่มีความวุ่นวายใจในชีวิต ปิดโอกาสของตัวเอง
ในการต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ หมกมุ่นกับสิ่งที่อยู่รอบด้านของตัวเอง

บางเมล็ดตกลงดินดี เหมือนกับ คนที่ตั้งใจ เปิดใจตัวเอง
สามารถนำพระวาจาประยุกต์เข้ากับตัวเอง นำความยินดีไปสู่คนอื่น...

ในหนังสือ "เริ่มต้นที่ดินดี" ของคุณพ่อภัคพล พูดว่า
ขนมปังที่ควรพกพาติดตัวไปด้วยเสมอก็คือ
ก้อนแรก การให้กำลังใจตัวเอง เพื่อจะสามารถปลอบใจคนอื่นได้
ก้อนที่สอง การให้อภัยตัวเอง เพื่อจะเข้าใจคนอื่นเมื่อเขาผิดพลาด
ก้อนที่สาม การให้โอกาสเพือแก้ไขตัวเอง เพื่อจะสามารถเปิดโอกาสให้คนอื่น
ก้อนที่สี่ การให้รอยยิ้มกับตัวเอง เพื่อจะได้แบ่งปันรอยยิ้มให้กับคนอื่น
ก้อนที่ห้า การให้ความรักแก่ตัวเอง เพื่อแบ่งปันความรักแก่คนอื่น

สรุป.. พระสงฆ์เป็นเหมือนตะเกียงที่ต้องติดหรือจุดไฟอยู่เสมอ
เพื่อต้องส่องแสงสว่างตลอดเวลา...





ชีวิตสงฆ์
เป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์
เป็นชีวิตที่มอบถวาย
เป็นชีวิตที่ต้องอุทิศตน
เป็นชีวิตที่ต้องเสริมสร้าง

ชีวิตสงฆ์
เป็นชีวิตที่ธรรมดา
เป็นชีวิตที่เรียบง่าย
เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า
เป็นชีวิตที่ไม่ใช่ของตัวเอง

ชีวิตสงฆ์
เสริมสร้างขึ้นในพระเยซูเจ้า
มั่นคงในพระองค์
ยืนหยัดในพระองค์
ติดยึดที่พระองค์
และดำเนินชีวิตไปในพระองค์