BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทเทศน์เตรียมจิตใจฉลองวัดหนองแซง


ค่ำคืนของวันที่ 29 พฤศจิกายน 2012

ได้รับเกียรติจากคุณพ่อฉลอง แก้วอาสา เจ้าอาวาสวัดนักบุญอันดรูว์ บ้านหนองแซง
เพื่อเทศน์เตรียมจิตใจ โอกาสฉลองวัดในวันที่ 1 ธันวาคม 2012 นี้

บทเทศน์


บทเทศน์
เตรียมจิตใจโอกาสฉลองวัดนักบุญอันดรูว์  หนองแซง

พี่น้องในค่ำคืนนี้ เรามาร่วมจิตร่วมใจกัน เตรียมจิตเตรียมใจของเราในโอกาสฉลองความเชื่อ หรือว่าฉลองวัดของเรา ซึ่งการฉลองวัด หรือ การฉลองความเชื่อ นี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตคริสตชนของเรา เพราะความเชื่อเรียกเราและเชื้อเชิญเราให้เข้าเป็นบุตรของพระเจ้า เพราะความเชื่อเราจึงได้รับศีลล้างบาป และเพราะความเชื่อ เราจึงกลายเป็นบุตรของพระเจ้า มีส่วนในมรดกแห่งชีวิตนิรันดรของพระองค์

ทุก ๆ ปี จึงเป็นความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำการเฉลิมฉลองความเชื่อของเรา โดยการเตรียมจิตเตรียมใจอย่างดี เพื่อเราจะได้ฉลองความเชื่ออย่างเต็มที่ (การฉลองความเชื่ออย่างเต็มที่ไม่ใช่การดื่มเหล้าเมาสุราอย่างเมามาย ไม่ลืมหูลืมตา หรือหัวราน้ำ)  แต่การฉลองความเชื่ออย่างเต็มที่ก็คือ เข้าวัด เข้าวา แก้บาป รับศีล การครองตัวเองให้บริสุทธิ์จากธรรมชาติฝ่ายเนื้อหนัง และจากการเอาแต่ใจของตนเอง จากคำพูดคำจาที่อยากจะด่าคนอื่น ด่าลูกด่าหลาน หรือ การบ่นต่อว่าพระเจ้า  การดำเนินชีวิตที่สุดจริต ไม่คดโกง ไม่เอารัดเอาเปรียบ ยึดมั่นในคุณธรรมและความดีงาม เช่น ซื่อสัตย์ สุจริต อยู่ในความจริงเสมอ เป็นต้น

ดังนั้น การฉลองวัดคือ การฉลองความเชื่อ เป็นฉลองภายในจิตใจของเรา ฉลองความสัมพันธ์ที่เรามีกับพระเจ้า ฉลอง ขอบคุณพระเจ้าสำหรับความเชื่อที่เราได้รับจากพระองค์  เมื่อภายในจิตใจของเรามีความชื่นชมยินดี มีความสุขกับพระเจ้าแล้ว เราจึงแสดงออกมาภายนอก

หากการฉลองวัดของเรา เราไม่ได้แก้บาป ไม่ได้รับศีล การฉลองความเชื่อก็ไร้ความหมาย เพราะเราฉลองความเชื่อของเรา เราจะต้องทำตนให้สมกับองค์อุปถัมภ์วัดของเรา นั่นคือ นักบุญอันดรูว์

นักบุญอันดรูว์ (รู้ไหมว่าหมายความว่าอะไร) ความหมายของชื่อก็คือ สมป็นชายชาติบุรุษ หรือ ผู้มีความกล้าหาญสมกับที่เป็นชายบุรุษ ก็คือ เป็นคนกล้าหาญ เป็นคนจริงจัง เป็นคนกระตือรือร้นในการเป็นพยานถึงพระคริสเจ้า นักบุญอันดรูว์เป็นน้องชายของนักเปโตร นักบุญอันดรูว์เป็นศิษย์ของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง นักบุญอันดรูว์เป็นคนที่บอกกับพี่ชายว่า พระเยซูเจ้านี่แหละคือพระเมสสิยาห์ นักบุญอันดรูว์ถูกจับและถูกตรึงบนกางเขน แต่เป็นกางเขนแบบไขว้ หรือรูปอักษร X

นี่คือ แบบอย่างของความเชื่อขององค์อุปถัมภ์ของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องเลียนแบบชีวิตของท่าน ในความกล้าหาญ ในการเป็นพยานถึงความเชื่อ ยืนยันด้วยชีวิตของท่าน ท่านเชื่อมั่นในพระเยซูเจ้า และก็ได้ดำเนินชีวิตตามความเชื่อนั้น

เราก็เช่นเดียวกัน ต้อง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยวในการเป็นพยานด้วยความเชื่อ เพื่อให้ความเชื่อของเราเติบโตและเข้มแข็ง

ความเชื่อของเราเปรียบเหมือนกับต้นไม้ ที่ต้องเจริญเติบโตขึ้นทุก ๆ วัน จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง มีกิ่งก้านใบที่สวยงาม และเป็นที่อาศัยของทุกสิ่งได้ ดังเช่นที่พระเยซูเจ้าเปรียบเหมือนกับเมล็ดมาสตาร์ด ที่เป็นเมล็ดเล็ก ๆ แต่เมื่อเติบโตกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ จนนกในอากาศมาทำรัง

ความเชื่อของเราก็จะต้องเป็นเช่นนี้ ค่อย ๆ เติบโต ในชีวิตประจำวัน ค่อย ๆ พัฒนา เจริญงอกงาม กลายเป็นความเข้มแข็งของชีวิต สามารถถ่ายทอดความเชื่อที่ถูกต้องไปยังลูกหลานของตนเองได้

พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้เทศน์ ในวันเปิดปีแห่งความเชื่อว่า ความเชื่อของคริสตชนเป็นการพบปะกับที่แท้จริงกับพระคริสตเจ้า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์  และพระองค์ได้เทศน์อีกตอนหนึ่งว่า ศูนย์กลางความเชื่อของคริสตชนคือ พระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งเราจะต้องประกาศไปยังเพื่อนพี่น้องของเรา

พี่น้องที่เคารพรัก นี่คือ สิ่งที่เราต้องตระหนัก นี่คือสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจ และต้องนำมาปฏิบัติเพื่อให้กลายเป็นชีวิตของเรา
               
ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หมายความว่าอะไร?

ความเชื่อเป็นเรื่องส่วนบุคคล ก็หมายถึง แต่ละบุคคลถูกเรียกจากพระเจ้าให้มาเป็นบุตรของพระเจ้า โดยผ่านทางศีลล้างบาป แต่ละบุคคลต้องเรียนรู้ ต้องเรียนคำสอน เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อจะได้เชื่อในพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เชื่อในพระเจ้าแบบงมงาย หรือคิดเอาเอง แต่ละบุคคลต้องลงมือปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระ ด้วยตัวเอง ไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ เช่น การทำบุญ การทำความดี การเข้าวัดเข้าวา เป็นต้น ไม่มีใครทำแทนกันได้ เราต้องลงมือทำด้วยตนเอง แต่ละบุคคลต้องสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าแบบตัวต่อตัวด้วยการมามิสซา ด้วยการสวดภาวนา เป็นต้น


ความเชื่อไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็หมายความว่า เราจะแสดงออกถึงความเชื่อเพียงลำพัง เพียงคนเดียวไม่ได้ ความเชื่อเป็นการแสดงออกเป็นกลุ่มชน หรือ เป็นส่วนรวม นั่นคือ ผู้มีความเชื่อจะสรรเสริญ ขอบคุณพระเจ้าเพียงลำพังไม่ได้ เพราะผู้มีความเชื่อได้ชื่อว่า เป็นกลุ่มคริสตชน เป็นกลุ่มผู้มีความเชื่อ เป็นการเรียกร้องให้แสดงออกถึงความเชื่อแบบเป็นกลุ่มและหมู่คณะ เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน เราจะสังเกต กิจกรรมคาทอลิกของเรา เน้นการทำเป็นกลุ่ม เช่น การมาร่วมมิสซา เรามากันเป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ เพื่อร่วมกันสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า การประชุมกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน ไม่ได้ทำเพียงคนเดียว แต่เราต้องทำเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

พี่น้องที่เคารพรัก การแสดงออกถึงความเชื่อในชีวิตประจำวันของเราเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะว่า ยิ่งเราแสดงออกในความเชื่อชัดเจนมากเท่าไร เราก็จะยิ่งเข้าใจและรักพระเจ้ามากเท่านั้น พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 16 ตรัสว่า ความเชื่อเติบโตขึ้น ด้วยการดำเนินชีวิตตามความเชื่อ

การแสดงออกถึงความเชื่อ โดยเฉพาะในครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่พระศาสนจักรเรียกร้อง และส่งเสริมสนับสนุนให้บรรดาครอบครัวทุกครอบครัวได้กระทำ..นั่นคือ การมาวัดเป็นครอบครัว พ่อแม่ลูก  ตายายหลาน มาวัดมาวา มาแก้บาปรับศีลด้วยกัน นี่คือ การแสดงออกถึงความเชื่อของครอบครัวเราอย่างแท้จริง และความเชื่อนี่แหละที่จะทำให้ครอบครัวของเราไม่มีวันตาย ความเชื่อจากตายาย จากพ่อแม่ สู่ลูกหลานนี่แหละที่จะทำให้ความเชื่อในครอบครัวของเรามีชีวิตชีวา ฉะนั้น การปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ อย่าลืมนำลูกหลานมาร่วมด้วย เพื่อเป็นการถ่ายทอดความเชื่อให้เติบโตต่อไป


วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมโภชพระเยซูคริสตเจ้ากษัตริย์สากลและจักรวาล2012


บทเทศน์







พี่น้องที่เคารพรัก ในวันพระศาสนจักรทำการสมโภชพระเยซูคริสตเจ้ากษัตริย์แห่งสากลจักรวาล เป็นอาทิตย์สุดท้ายของปีพิธีกรรมปี B สัปดาห์หน้าเราก็จะเข้าสู่เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตสมภพปี C ในวันสมโภชนี้มาจากพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ที่ได้ประกาศการสมโภชให้เป็นทางการของพระศาสนจักร เป็นแสดงออกถึงความเชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แห่งสากลจักรวาล นั่นหมายความว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองทั่วจักรวาล เป็นการสะท้อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในบทข้าพเจ้าเชื่อที่ว่า ข้าพเจ้าเชื่อในพระเจ้าพระบิดาผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงเนรมิตฟ้าดิน... สะท้อนให้เห็นความหมายที่ว่า ไม่มีสิ่งใดเลยที่อยู่นอกเขตการปกครองของพระเจ้า ไม่มีใครที่อยู่นอกอาณาจักรของพระองค์

พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้ ในบทอ่านทั้งสามบทได้พูดถึงการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า

ในหนังสือประกาศกดาเนียล นิมิตที่ท่านเห็นนั้นก็คือ ท่านผู้หนึ่งเหมือนบุตรแห่งมนุษย์ ได้รับมอบอำนาจปกครอง สิริรุ่งโรจน์และอาณาจักร นั่นหมายถึง พระเยซูคริสตเจ้า พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ กษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยอำนาจ อำนาจที่ไม่มีวันสิ้นสุดและไม่มีใครที่มีอำนาจเทียบได้กับพระองค์

ในหนังสือวิวรณ์ นักบุญยอห์นได้เป็นพยานยืนยันว่า พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นคนแรกที่กลับคืนพระชนมชีพ พระองค์ทรงเป็นประมุขของบรรดากษัตริย์ทั้งมวล พระองค์ทรงเป็นอัลฟาและโอเมกา ทรงเป็นปฐม และบั้นปลาย นี่คือพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสตเจ้า

ในพระวรสาร ปิลาตถามพระเยซูเจ้าว่า ท่านเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ? และพระเยซูเจ้าทรงประกาศพระองค์เองว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ พระองค์เกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรของพระองค์ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ พระองค์มาในโลกเพื่อเป็นพยานถึงความจริง ผู้ใดอยู่ฝ่ายความจริงก็ฟังพระองค์

บทอ่านทั้งสามบทได้พูดถึงพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมาในโลกเพื่อปกครองมนุษย์ เพื่อทำให้มนุษย์พบกับความจริงของพระเจ้า
พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ตรัสว่าเรารู้ดีว่า ความจริงมีอยู่ในพระเจ้า ในพระองค์เอง เหมือนกับเป็นเอกลักษณ์ของพระองค์

ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าคือ การรับใช้ การมอบตนเอง การอุทิศตนเอง
เราพบว่า ตลอดพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงแสดงออกถึงความเป็นกษัตริย์ ในการปกครอง ในการเป็นผู้นำ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์หรือแนวทางในการดำเนินชีวิตของพระองค์ก็คือ การรับใช้ การมอบตนเอง การอุทิศตนเองเพื่อคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอัศจรรย์ต่าง ๆ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การให้อภัยบาป การอยู่กับทุกคน เป็นการแสดงออกถึงการรับใช้และอุทิศตนเอง
อาณาจักรของพระเจ้าเป็นอาณาจักรแห่งความรัก ไม่ใช่อาณาจักรแห่งอำนาจ การใช้กำลัง
อาณาจักรของพระองค์คือ ความรัก เพราะตั้งแต่เริ่มต้น พระองค์ทรงรักมนุษย์ พระองค์ทรงรักโลก เมื่อมนุษย์มองไม่เห็นความรักของพระเจ้า หรือ มองความรักของพระเจ้าผิดไป พระเจ้าส่งพระบุตรของพระองค์ลงมาเป็นความรักของพระเจ้า สร้างอาณาจักรแห่งความรักกันและกัน  พระเจ้าทรงอยู่ในจิตใจมนุษย์ไม่ใช่อำนาจแบบความรุ่นแรง หรือ การใช้กำลัง อาณาจักรของพระองค์เป็นความรัก และความเป็นพี่น้องกัน
          อาณาจักรของพระเจ้าเป็นอาณาจักรแห่งความจริง ไม่ใช่อาณาจักรแห่งความโกหกหรือความเท็จหลอกลวง
อาณาจักรของพระเจ้าเป็นอาณาจักรแห่งความดีงาม ไม่ใช่ความเกลียดชัง
อาณาจักรของพระเจ้าเป็นอาณาจักรแห่งความยุติธรรม ไม่ใช่ การแก้แค้นหรือเอารัดเอาเปรียบหรือการเห็นแก่ตัว
พระเยซูเจ้าพระองค์ทรงมอบชีวิตของพระองค์ให้กับเรา และให้อย่างสมบูรณ์ ให้ทุกย่างสิ่งทุกอย่าง จนถึงกับหลั่งเลือดเพื่อช่วยเราให้รอด เพื่อไถ่กู้เรา พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ที่แข็งแรงและทรงอำนาจ ไม่ใช่กษัตริย์ที่กดขี่และข่มเหง ไม่ใช่กษัตริย์ที่นำความทุกข์ยากลำบากมาให้ แต่เป็นกษัตริย์ที่ยอมรับเอาความทุกข์ทรมานไว้ที่ตนเองที่เชิงกางเขน
นี่คือตัวอย่าง แบบอย่างสำหรับเราคริสตชนทุกคน
อำนาจที่กษัตริย์แห่งสากลจักรวาลใช้ในการปกครองก็คือ อำนาจแห่งความรัก และการรับใช้
สำหรับเราคริสตชน เรามีส่วนร่วมในชีวิตและพันธกิจของพระเยซูเจ้าองค์กษัตริย์นี้ โดยผ่านทางศีลล้างบาป เรามีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกับพระองค์ ในการทำหน้าที่เป็นสงฆ์ เป็นกษัตริย์ และเป็นประกาศก
การเป็นกษัตริย์แห่งศีลล้างบาป เรารับพันธกิจและวิสัยทัศน์ของพระเยซูเจ้า นั่นคือ การรัก และรับใช้ผู้อื่น ในครอบครัวของเรา ครอบครัวหนึ่งเป็นเหมือนกับอาณาจักรหนึ่ง ครอบครัวหนึ่งมีพ่อแม่ลูก แต่ละคนมีหน้าที่ของตนเอง แต่ละคนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ บิดาทำหน้าที่บิดา คือทำงาน ดูแล ปกป้อง เอาใจใส่ สร้างความรักให้เกิดในครอบครัว มารดาทำหน้าที่มารดา ทำงาน ดูแล ห่วงใย และสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน บุตรทำหน้าที่บุตรในการเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน
ดังนั้น อาณาจักรแห่งความรักและรับใช้จึงเกิดขึ้นในครอบครัวของเรา



วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันเสาร์ 33 ธรรมดาปี B

บทเทศน์
                                                                                                                           ลก 20:27-40


พี่น้องที่เคารพรัก สิ่งที่เป็นเรื่องลึกลับเกี่ยวกับมนุษย์เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องความตาย เรื่องชีวิตหลังความตาย 
เป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ นอกจากบุคคลที่ตายไปแล้วกลับมาบอก  
หลายคนก็เชื่อในความฝัน ฝันเห็นคนนั้นคนนี้มีสภาพอย่างนั้น อย่างนี้ 
บางคนก็บอกว่าเห็นคนที่ตายปรากฏมาให้เห็นมาบอก มาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย

สำหรับเราคริสตชน เรามีผู้หนึ่งที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุด เรามีพระเยซูเจ้าที่บอกแก่เราในเรื่องชีวิตหลังความตาย 
เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของผู้เป็นทั้งที่อยู่ในโลกวัตถุนี้ และทั้งผู้ที่อยู่ในอีกสภาพหนึ่งด้วย

ด้วยเหตุนี้ ศาสนาคริสต์ จึงมีจุดที่เด่นชัดที่ต่างจากศาสนาอื่น  ก็คือ เรื่องการกลับคืนชีพ  
สมัยที่เรียนที่วิทยาลัยแสงธรรมชั้นปีที่ 7 คุณพ่อผู้สอนวิชาคริสตวิทยา (Christology
ได้ถามบรรดานักเรียนทั้งหลายว่า ศาสนาของเราต่างจากศาสนาอื่น ๆ อย่างไร?  
บางคนก็ตอบว่า พระศาสนจักร เรื่องการยกบาป  เรื่องการพิพากษา  
คุณพ่อผู้เป็นอาจารย์ก็ตอบว่า ผิด  และก็มีบราเดอร์คนหนึ่งตอบว่า การกลับคืนชีพครับ
แน่นอนนี่เป็นคำตอบที่ถูกต้อง  
เพราะไม่มีใครกล้าอธิบายเรื่องชีวิตหลังความตายเพราะทุกคนเป็นมนุษย์ไม่มีประสบการณ์ 
แต่พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า เราทุกคนจะกลับคืนชีพจะมีชีวิตใหม่ในสภาพแห่งความรุ่งโรจน์

ในพระวรสาร ชาวสะดูสีมาหาพระเยซูเจ้าและเล่าเรื่องหนึ่งให้พระเยซูเจ้าฟังเพื่อเป็นการสนับสนุนความคิดที่ว่า 
ไม่มีการกลับคืนชีพ เรื่องก็คือ มีพี่น้อง 7 คน คนแรกมีภรรยา 
แล้วก็ตายไปโดยไม่มีบุตร คนที่ 2 ก็รับนางมาเป็นภรรยา แล้วก็ตายอีก คนที่ 3-7 ก็รับนางเป็นภรรยา และก็ตายไป 
ที่สุดนางก็ตายไปด้วย ดังนี้ เมื่อมนุษย์จะกลับคืนชีพ  หญิงนั้นจะเป็นภรรยาของใคร 
ในเมื่อทุกคนก็ได้นางเป็นภรรยา

พวกเขาถามพระองค์เพื่อจะทดลองพระองค์  พวกเขาถามพระองค์เพราะว่า การกลับคืนชีพไม่ได้บอกไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม

การกลับคืนชีพเป็นสภาพรุ่งเรือง เป็นสภาพเหมือนทูตสวรรค์ของพระเจ้า 
และสิ่งที่เป็นแก่นของชีวิตผู้กลับคืนชีพก็คือ พระเจ้า เท่านั้น

ฉะนั้น พี่น้องที่เคารพรัก ในเมื่อโลกนี้เป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น  
ในเมื่อสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงความชั่วคราวเท่านั้น ทำไมเราไม่แสวงหาสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของชีวิตเล่า?  
ทำไมเราไม่ใช้สิ่งที่มีอยู่นี้เพื่อเสริมสร้างชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าเล่า?

การที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้เราปลงตกต่อการดำเนินชีวิตในโลกนี้ แต่เพื่อต้องการจะบอกเราว่า 
สิ่งที่ต้องมาเป็นอันดับแรก สิ่งที่เราควรจะเลือกก่อนอื่นใดก็คือ 
พระประสงค์ของพระเจ้าที่จะต้องสำเร็จไปในแผ่นดินนี้ เหมือนในสวรรค์  
พระประสงค์ของพระองค์ก็คือ มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับความรอดพ้นจากบาปและความตาย 
และจะได้อยู่กับพระองค์ในสวรรค์


วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วันพฤหัสบดี 33 ธรรมดาปี B


บทเทศน์
                                                                                                                         ลก 19:41-44


พี่น้องที่เคารพรัก  
พระเยซูเจ้าเสด็จมาในโลกนี้เพื่อที่จะพยายามสร้างอาณาจักรของพระเจ้าให้เกิดขึ้น
อาณาจักรแห่งความรัก
อาณาจักรแห่งสันติสุข 
อาณาจักรแห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน

คำสอนของพระองค์เน้นความรัก  รักพระเจ้า และรักเพื่อนพี่น้อง  รักตนเอง 
และรักแม้ต่อศัตรู  ให้อภัยแก่กันและกันเสมอ


ในพระวรสาร พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จเข้ามาใกล้กรุงเยรูซาเล็ม 
พระองค์มองเห็นเมืองนี้แล้ว พระองค์ทรงกันแสง 
และตรัสว่า ถ้าในวันนี้เจ้าเพียงแต่รู้จักทางนำไปสู่สันติก็จะเป็นการดี  
แต่ทางนั้นถูกซ่อนไว้จากดวงตาของเจ้าเสียแล้ว


นักวิชาการหลายคนตีความว่าเป็นการทำนายถึงอนาคต 
เป็นการทำนายว่าวิหารกรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย และก็เป็นเช่นนั้นจริง 
เพราะกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายโดยกองทัพชาวโรมัน เมื่อปี ค.ศ.70 กรุงเยรูซาเล็มถูกเผา  
ชาวยิวถูกฆ่าตายราวแสนคน 
สาเหตุก็เพราะว่า ชาวยิวได้กบฏต่อโรมัน พวกเขาต้องการอิสรภาพ แต่เลือกใช้วิธีความรุนแรง พวกเขาต้องการสันติสุข แต่เลือกใช้ดาบต่อสู้


ต่ก็มีนักวิชาการบางคนก็บอกว่า พระเยซูเจ้าตรัสข้อความนี้ ทำให้คิดถึงการทำลายพระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม ในปี 587 ก.ค.ศ. มากกว่า



แต่อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้บรรดาศิษย์ของพระองค์
แสวงหาสันติด้วยวิธีการของพระองค์ นั่นก็คือ ความรักต่อกันและกัน  รักแม้แต่ศัตรู  
การให้อภัยแก่กันและกัน  การไม่โกรธเคียงไม่เคียดแค้นต่อกัน  
มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน 

ถ้าหากทุกคนตระหนักและมีความสำนึกในคำสอน และพระวาจาเหล่านี้ 
แน่นอนว่า นี่แหละพระอาณาจักรของพระเจ้า  
เหมือนกับยุคของพระแมสสิยาห์ที่ประกาศกอิสยาห์ทำนายไว้ว่า
สุนัขป่าจะอยู่กับลูกแกะ และเสือดาวจะนอนอยู่กับลูกแพะ  
ลูกโคกับสิงห์หนุ่มจะหากินอยู่ด้วยกัน และเด็ก ๆ จะนำมันไป 
แม่โคกับหมีจะกินด้วยกัน ลูกของมันจะนอนอยู่ด้วยกัน 
และสิงห์จะกินฟางเหมือนวัวผู้ และทารกกินนมจะเล่นอยู่ที่ปากรูงูเห่า (อสย 11:6-9


แต่ในความเป็นจริง หนทางของพระองค์ถูกปิดบัง ถูกซ่อนไว้ด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง 
เช่น ด้วยเวลา  ด้วยความรีบร้อน  ด้วยหน้าที่การงาน  ด้วยความเห็นแก่ตัว 
ด้วยการเฉยเมย  ด้วยการไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น เป็นต้น


ฉะนั้น พี่น้องที่เคารพรัก เราจะต้องร่วมมือกันสร้างพระอาณาจักรของพระเจ้าให้เกิดขึ้นในโลกของเรา เริ่มต้นที่ตัวของเราเอง  ออกไปสู่ครอบครัวของเรา  
ออกไปสู่เพื่อนบ้านของเรา ออกไปสู่ชุมชนของเรา 
ออกไปสู่หมู่บ้านของเรา และจนสุดปลายแผ่นดิน


พระอาณาจักรของพระเจ้าเริ่มต้นด้วยสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
เช่น การเป็นแบบอย่างแก่กัน  การทำความดีด้วยความพากเพียร  
การแบ่งปันกันด้วยความยินดี 
ในแต่ละวันเราก็ตั้งใจที่จะแสดงความรักต่อกันและกันให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ 
และดังนี้อาณาจักรของพระเจ้าจะแผ่ขยายออกไป เหมือนกับเชื้อแป้งแม้จะมีเพียงน้อยนิด 
แต่ก็ทำให้ขนมปังฟูขึ้นได้  เหมือนกับเมล็ดซีนาปิส ซึ่งเป็นเมล็ดเล็ก ๆ แต่เมื่อโตขึ้น 
กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ จนนกในอากาศมาอาศัยได้





วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทศน์เข้าเงียบประจำปีสงฆ์ 2012


ระหว่างวันที่ 12 -16 พฤศจิกายน 2012  เป็นวันเข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่ฯ

ณ  สำนักมิสซังท่าแร่ฯ  สกลนคร



บทเทศน์เข้าเงียบประจำปีสงฆ์ท่าแร่
หัวข้อ พระสงฆ์กับปีแห่งความเชื่อ

ตอนที่ 1  ศักดิ์ศรีของสงฆ์

คำถามว่า พระสงฆ์คือใคร? พระสงฆ์คือ คนของพระเจ้า (2ทม 3:17) แท้จริงแล้ว เป็นพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเลือกเขาและเรียกเขาจากมวลมนุษย์ ด้วยกระแสเรียกพิเศษ ไม่มีใครแอบอ้างเกียรตินี้เป็นของตนได้ นอกจากผู้ที่พระเจ้าทรงเรียก (ฮบ 5:4) ด้วยการแยกเขาออกจากทุกคน เขาถูกแยกออกมาเพื่อพระวรสาร (รม 1:1) เขาได้รับเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไปท่านเป็นสมณะตลอดนิรันดร (ฮบ 5:6) และ ด้วยการแต่งตั้งเขาให้มีอำนาจของพระเจ้าในการเป็นสงฆ์แห่งการบิการ เนื่องจากเขาถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระเจ้า พระสงฆ์ได้รับการเลือกจากมวลมนุษย์ให้เป็นผู้แทนมนุษย์ในทุกเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อถวายบรรณาการและเครื่องบูชาชดเชยบาป (ฮบ 5:1)

ผ่านทางศีลบวช พระสงฆ์ได้รับการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในวิญญาณและร่างกาย นั่นคือ ศักดิ์สิทธิ์ทั้งครบ ทุกส่วน เป็นภาพเดียวกับพระเยซูเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงมีความสนิทสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระเยซูเจ้า มีส่วนร่วมในกระแสเรียกและพันธกิจเดียวกันกับพระเยซูเจ้า  ในชีวิตทั้งหมดของพระเยซูเจ้า คือ ชีวิตพรหมจรรย์ ยากจน และอุทิศตน  เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าท่ามกลางคนต่างศาสนา (รม 15:16) พระองค์ทรงนำและเป็นอาจารย์ของวิญญาณ

นักบุญเกรโกรีแห่งนิสสาเขียนเกี่ยวกับพระสงฆ์ไว้ว่า เมื่อวานนี้เขาเป็นคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง บัดนี้ได้กลายเป็นอาจารย์ ผู้อยู่สูงกว่าคนอื่น ผู้นำความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้นำธรรมล้ำลึกที่ศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งเขาเป็นผลงานของพระจิตเจ้า
นักบุญยอห์น คริสโซสโตมพูดว่า เขาไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่ทูตสวรรค์ ไม่ใช่อัครเทวดาสวรรค์ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสร้าง แต่พระจิตเจ้าได้ประทับตราให้เขาเป็นพระสงฆ์ 

นักบุญซีเปรียนเขียนอีกว่า พระจิตเจ้าวาดภาพสงฆ์ของพระเยซูเจ้าในจิตวิญญาณของเขา ในรูปแบบที่ว่า พระสงฆ์เมื่ออยู่บนพระแท่นเขาก็กระทำกิจการเดียวกันกับพระเยซูเจ้า

ดังนั้นศักดิ์ศรีของการสงฆ์คือ สงฆ์แห่งสวรรค์(น.กาสซีอาโน)  สงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ (น.ดิโอนีซีโอ)  สงฆ์ตลอดนิรันดร (น.เอเฟรม)

น.ออกัสติน กล่าวว่า ศักดิ์ศรีที่น่าเคารพของพระสงฆ์ ผ่านทางพระสงฆ์ พระหัตถ์ของพระบุตรของพระเจ้าได้ลงมาบังเกิดเหมือนในครรภ์ของพระนางพรหมจารีย์

น.ฟรังซิสโก แห่งอัสซีซี กล่าวว่า ในพระสงฆ์ ข้าพเจ้าเห็นพระบุตรของพระเจ้า
เจ้าอาวาสเมืองอาร์ส เทศน์ว่า ทุกครั้งที่พวกเราเห็นพระสงฆ์ นั่นคือการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า และกล่าวอีกว่า ถ้าตัวข้าพเจ้าพบพระสงฆ์คนหนึ่งกับทูตสวรรค์องค์หนึ่ง ข้าพเจ้าจะเคารพพระสงฆ์ก่อน จากนั้นจึงจะเป็นทูตสวรรค์... พระสงฆ์มีกุญแจที่จะเปิดขุมทรัพย์แห่งเมืองสวรรค์

นี่คือ เกียรติ ศักดิ์ศรี นี่คือความเป็นสงฆ์ของพระสงฆ์ ซึ่งบรรดานักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร บรรดานักบุญทั้งหลายต่างให้ความเคารพ และยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรีที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งได้รับผ่านทางองค์พระจิตเจ้าเพื่อทำหน้าที่เสมือนพระคริสตเจ้า

ที่ผมได้นำเอาคำพูดของบรรดานักปราชญ์ นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์มายกตัวอย่างในวันนี้นั้น เป็นเสมือนการรื้อฟื้นชีวิตแห่งการเป็นสงฆ์ของเรา เพื่อให้เกิดความตระหนักให้มากยิ่งขึ้นว่า การเป็นสงฆ์นั้น หน้าที่สำคัญคือ การชิดสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า ศักดิ์ศรีของการเป็นสงฆ์ไม่ใช่มาจากความรู้ ความสามารถ ความเก่ง ความชำนาญ ที่เป็นของเรามนุษย์ แต่ความเป็นสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติมาจาการชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า  มาจากการติดตามองค์พระเยซูเจ้า สงฆ์นิรันดรของเรา

ที่ผมได้นำเอาคำพูดเหล่านี้มา เพื่อรื้อฟื้นถึงศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นพระสงฆ์ เพื่อจะได้ไม่ทำให้ความเป็นสงฆ์ลดลงไป อันเนื่องมาจากวิสัยตามประสามนุษย์ หรือธรรมชาติของมนุษย์ ในด้านอารมณ์ ในด้านความรู้สึก ในด้านการเป็นตัวของตัวเอง เพื่อพระสงฆ์จะได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองอยู่เสมอ ความบาป และความอ่อนแอที่เจตนา รวมทั้งความเมินเฉย หรือความไม่ใส่ใจ หรือแม้กระทั่งการปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ควบคุมตนเอง ลืมสถานะของตนเอง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้คุณค่าของสงฆ์ลดลงไปก็ได้

ปีนี้เป็นปีแห่งความเชื่อ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ประกาศ เพื่อให้บรรดาคริสตชนได้หันมามองดูความเชื่อของตนเอง ได้รื้อฟื้นความเชื่อของตนเองเป็นพิเศษ และเราทุกคนที่เป็นพระสงฆ์ เราก็เป็นคริสตชน จึงจำเป็นและสำคัญด้วยว่า พระสงฆ์ก็ควรที่จะรื้อฟื้นและไตร่ตรองความเชื่อของตนเองว่า เราเป็นสงฆ์ ความเชื่อของเราหนักแน่นเพียงพอไหม?  เพราะหลายครั้งเราเองก็ดำเนินชีวิตตามประสาของคนโลก นั่นคือ แสวงหาความสุขให้กับตนเองจากวิธีการทางโลกมากกว่าที่จะแสวงหาความสุขให้กับตนเองจากวิธีการของพระเจ้า เช่น การเที่ยว การกิน การดื่ม การออกจากวัด การอยู่กับคนที่เราสบายใจ เป็นการพักผ่อน  ทำไมการเฝ้าศีล การเข้าเงียบ การอยู่คนเดียว รำพึงภาวนา จึงไม่ใช่การพักผ่อนของเรา เพราะนี่คือ แนวทางการสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า

ตอนที่ 2 คัดจากพระสมณลิขิต Porta Fidei  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

PF 1 ประตูแห่งความเชื่อ (กจ 14:27) เปิดอยู่เสมอสำหรับเรา.. 
ในพระวรสารนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นประตู 2 ครั้ง คือ
·       พระเยซูเจ้าทรงเป็นประตูคอกแกะ (ยน 10:7)
·       พระเยซูเจ้าทรงเป็นประตู (ยน 10:9)
เราจะพบว่า การเป็นประตูของพระเยซูเจ้านี้ พระองค์ทรงเป็นประตูเพื่อทำให้เกิดชีวิต ผู้ที่เข้าออกผ่านทางประตูนี้จะมีชีวิต ผู้ที่เดินทางเข้ามาทางประตูนี้ก็จะรอดพ้น เขาจะพบทุ่งหญ้า การเข้าการออกทางประตู ก็คือ เจ้าของ แต่คนที่เข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ประตูคือ ขโมยและโจร ที่จ้องจะทำลายและลักขโมยเท่านั้น
พระสันตะปาปาบอกว่า ประตูแห่งความเชื่อเปิดอยู่เสมอสำหรับเรา พร้อมที่จะนำเราไปสู่ชีวิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า
เราจึงเห็นว่า ผู้ที่ผ่านประตูแห่งความเชื่อนี้ ก็คือ ชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ประตูนี้มีหน้าที่ที่นำเราไปสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า
·       พระสงฆ์เป็นเสมือนประตูแห่งความเชื่อ
มองดูชีวิตของพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน พระสงฆ์เป็นประตูแห่งความเชื่อ เพราะผ่านทางชีวิตของพระสงฆ์ บรรดาผู้มีความเชื่อเป็นหนึ่งเดียวกับ พระเจ้า ผ่านทางมือสองข้างของพระสงฆ์ บรรดาสัตบุรุษได้รับพระหรรษทานและความศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้น หน้าที่ของพระสงฆ์ คือ นำสัตบุรุษให้มีความเชื่อ กระตุ้นให้ความเชื่อเข้มแข็ง และมุ่งไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ผ่านทางการบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ และผ่านทางชีวิตที่เป็นพยาน ชีวิตที่เป็นแบบอย่างแห่งความเชื่อให้กับบรรดาสัตบุรุษ 
ประตูแห่งความเชื่อเปิดอยู่เสมอ สำหรับทุกคน ชีวิตของพระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องเปิดออกสู่ทุกคน ทุกคนสามารถเข้าออก เดินทางข้าม ผ่านในชีวิตของพระสงฆ์ เพื่อที่จะได้ลิ้มรสความเชื่อของพระสงฆ์และความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
พระสงฆ์ต้องพร้อมที่จะบริการความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับประตูที่เปิดอยู่เสมอ พระสงฆ์ต้องพร้อมที่จะต้อนรับทุกคน เพื่อให้เขาได้รู้จักและพบกับพระเจ้า เมื่อเข้ามาพบพระสงฆ์ รู้จักพระสงฆ์ เราจะต้องทำให้เขาเห็นถึงพระคริสตเจ้าให้ได้ในตัวของเรา
เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเป็นประตู เพื่อผู้ที่เข้าออกจะได้รอดพ้น จะพบทุ่งหญ้า พบความอุดมสมบูรณ์ในจิตวิญญาณ

PF 3  เกลือไร้รสชาติหรือแสงสว่างถูกซ่อนไว้ไต้ถัง
พระสันตะปาปาตรัสว่า เราไม่อาจยอมรับได้ว่า เกลือนั้นไร้รสชาติ และแสงสว่างถูกซ่อนไว้ใต้ถัง เพราะในเอกลักษณ์ หรือในความเป็นของเกลือก็คือ ความเค็ม  และแสงสว่างก็คือ การเปิดเผย
พระสงฆ์เยซูอิตท่านหนึ่ง คพ.ยอห์น ฮาร์ดัน พูดว่า ความน่าเศร้าสลดที่สุดในโลกของเรานี้ก็คือ พระสงฆ์หมดความเป็นสงฆ์
ในพระวรสารนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดอกแผ่นดิน ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มอีกเล่า..นอกจากจะถูกทิ้งให้คนเหยียบย่ำ  ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ไต้ถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน (มธ 5:13-15)
                พระสันตะปาปาบอกว่า รับไม่ได้กับการเสียคุณค่าในตัวเอง หรือการทิ้งเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นคือ หากพระสงฆ์ทิ้งศักดิ์ศรี ทิ้งความเป็นสงฆ์ เหยียบย่ำเอกลักษณ์ของตนเองด้วยการกระทำที่ไม่ควรทำ ด้วยการไม่รักษาความเค็มของตนเองเอาไว้  ด้วยการทำลับ ๆ ล่อ ๆ ปิดบัง ซ่อนเร้น ไม่กล้าเปิดเผยความจริง ไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริงของชีวิต
                เกลือรักษาความเค็ม เพื่อดองแผ่นดิน เหมือนกับความเชื่อในชีวิตของพระสงฆ์ที่จะต้องเข้มข้นอยู่เสมอ พระสันตะปาปาประกาศให้คริสตชนรื้อฟื้นความเชื่อของตนเองตลอดปีนี้ แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่คริสตชน แต่ยังหมายถึงพระสงฆ์ด้วย ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับความเชื่อของตนเองด้วยการดำเนินตามความเชื่อ พระสงฆ์ต้องใส่ใจและฟื้นฟูความเชื่อไม่ให้เป็นเหมือนกับเกลือที่จืดจางที่จะนำมาแต่การเหยียบย่ำเท่านั้น
                แสงสว่างส่องโลก ส่องสว่างแก่ทุกคน... การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ เป็นการดำเนินชีวิตเหมือนกับตะเกียงที่จุดอยู่ (ตั้งแต่บวช) แสงสว่างของตะเกียงจะส่องสว่างเสมอ และจะไม่มีสิ่งใดที่จะปิดบังหรือซ่อนแสงสว่างของการเป็นสงฆ์ได้ เพราะแสงสว่างของการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ แตกต่างจากแสงสว่างแห่งความดีของคริสตชน เนื่องจากชีวิตของพระสงฆ์เป็นชีวิตที่เปิดเผย เป็นชีวิตสาธารณะ เป็นชีวิตเพื่อคนอื่น ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องการแสงสว่างของชีวิตพระสงฆ์
                ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราจึงไม่ยอมกลับใจ? ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราความเชื่อจึงไม่เข้มแข็ง? ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราจึงทะเลาะเบาะแว้งกัน?  เพราะพระสงฆ์เจ้าวัดไม่กลับใจ เพราะพระสงฆ์เจ้าวัดความเชื่อไม่เข้มแข็งพอ เพราะความเชื่อของเจ้าวัดยังขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า...หรือไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า
                พระสงฆ์เทศน์สอนสัตบุรุษให้ถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า.. แต่ พระสงฆ์เองบางครั้งก็ไม่ถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า เช่น อย่าลักขโมย เงินวัด เงินทาน เงินมิสซา เงินกลุ่ม เงินกองกลาง เงิน pastoral gas - ถามหาความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว พระสงฆ์ก็คนมีความอ่อนแอ.. เป็นต้น แม้แต่ขีดเดียว พระสงฆ์ก็ควรไม่ละเว้น..

PF 7  เพราะความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา (2คร 5:14)
ในทำนองเดียวกัน อาศัยความรักของพระองค์ พระคริสตเจ้าจึงดึงดูดประชากรทุกชาติทุกภาษาให้เข้ามาหาพระองค์
ก่อนที่เราจะถูกผลักดันออกไป ประกาศความรัก แน่นอว่า ความรักต้องดึงดูดเราเสียก่อน
ความรักของพระคริสตเจ้าดึงดูดเราเข้ามาหาพระองค์ ดึงดูดเราให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ และดึงดูดเราให้เราติดตามพระองค์ในฐานะของการเป็นพระสงฆ์ และเพราะความรักของพระคริสตเจ้านี้เองที่อยู่ในตัวของเรา ที่ดึงดูดบรรดาสัตบุรุษเข้ามาหาเรา เพราะเราเป็นเสมือนทางผ่าน ให้บรรดาสัตบุรุษที่มาหาเรานั้นไปพบกับความรักของพระคริสตเจ้า
ชีวิตของพระสงฆ์ มีความรักของพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพเต็มเปี่ยม และการที่ผู้คนเข้ามหาเรา เข้ามาเคารพ เข้ามาไหว้ เข้ามาขอพรจากเรา ไม่ใช่เพราะตัวตนของเรา แต่เพราะความรักของพระคริสตเจ้า หลายครั้งเราหยุดแค่นี้ สัตบุรุษชายหญิงเข้ามาพบปะ พูดคุยกับพระสงฆ์ หลายครั้งเรานำความรักของเราเอง (ตามประสามนุษย์) ออกมาให้สัตบุรุษได้เห็น แทนที่เราจะนำเสนอความรักของพระคริสตเจ้า แทนที่เราจะเปิดเผยถึงความรักของพระคริสตเจ้า  เมื่อหยุดแค่ตัวของพระสงฆ์ ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะความรักผลักดันเรา ให้แสดงความรักของเราต่อคนอื่น..  แท้จริงแล้ว ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา ให้เราแสดงความรักของพระองค์แก่มนุษย์

ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา มีข้อความต่อไปอีกว่า เราแน่ใจว่า ถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าทุกคนได้ตายด้วย หมายความว่า ถ้าพระสงฆ์ตายต่อตัวเอง ตายต่อความบาป ตายต่อความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม แน่นอนว่า บรรดาสัตบุรุษก็ย่อมตายต่อตัวเองได้เช่นเดียวกัน  
ดังนั้น ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา ก็คือ การที่พระสงฆ์คนหนึ่งเป็นพยานถึงพระเจ้าด้วยการดำเนินชีวิตในความรักของพระคริสตเจ้า เพื่อคนต่างศาสนาจะได้เห็นถึงความรักของพระเจ้า
คำว่า ประตูแห่งความเชื่อ แท้จริงแล้ว ในต้นฉบับ หรือ เนื้อหา หรือ บริบทของตัวบท ได้พูดว่า พระเจ้าทรง ประตูแห่งความเชื่อให้คนต่างศาสนา (กจ 14:27) มีภาพเดียวกันนี้ปรากฏอีกว่า มีประตูเปิดอยู่ให้ข้าพเจ้า เป็นประตูใหญ่และให้ผล (1คร 16:9)  
และ จงภาวนาสำหรับเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะทรงเปิดโอกาสให้เราประกาศพระวาจาสอนธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้า (คส 4:3)

ผู้มีความเชื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองด้วยการเชื่อ
ขอให้ปีแห่งความเชื่อประทานความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า จงได้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น