BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผู้ล่วงลับ 2013


บทเทศน์

บทเทศน์ ผู้ล่วงลับ

ในเดือนพฤศจิกายาน  เราคริสตชนมีธรรมเนียมปฏิบัติก็คือ การระลึกถึงบรรดาบรรพบุรุษของเราที่ล่วงลับไปแล้ว 
ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือแม้แต่บุคคลที่เราไม่รู้จัก 
เมื่อเขาตายไป เราก็คิดถึงเขา  การระลึกถึงผู้ล่วงลับ เราคริสตชนสามารถทำได้โดย 

การสวดภาวนาทั้งส่วนตัวและส่วนรวม คือ สวดในจิตใจคนเดียว หรือรวมกันสวดเป็นครอบครัว หรือเป็นกลุ่ม 
ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้สุดยอดของคำภาวนาก็คือ 

การขอมิสซาสำหรับผู้ล่วงลับไปแล้ว พระศาสนจักรสอนว่า เมื่อเราร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ เราก็ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า นั่นคือ การรับทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ  ในการมีส่วนร่วมของเราในมิสซานี้แหละที่เป็นผลไปถึงบรรดาผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย

ในเดือนนี้ เป็นเดือนที่เราระลึกถึงผู้ตาย ที่อยู่ในไฟชำระ คือ ผู้ที่รอคอยวันเวลาแห่งการชำระตนเองให้สะอาด 
เพื่อจะได้เป็นผู้เหมาะสมที่จะเข้าไปสู่สวรรค์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า พระศาสนจักรสอนเราเรื่อง “สหพันธ์นักบุญ” 
หรือ “ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวของผู้ศักดิ์สิทธิ์” มีอยู่ 3 ที่ด้วยกัน  นั่นคือ

 มนุษย์ที่มีชีวิตบนโลกนี้  
ผู้ล่วงลับที่อยู่ในไฟชำระ
 และผู้ล่วงลับที่อยู่ในสวรรค์ เราเรียกว่า นักบุญ

พระศาสนจักรย้ำเตือนเราเสมอว่า “อย่าลืมบรรดาผู้ล่วงลับทั้งหลาย
 เพราะเขาไม่สามารถทำกิจการใดใดได้เลยเพื่อช่วยตัวเองให้รอดพ้น”

พี่น้อง มีเพียงชีวิตบนโลกนี้เท่านั้น ที่จะกำหนด ชีวิตหลังความตายได้  ตายแล้วจะไปไหน? 
ไม่ต้องรอคำตอบจากคนตายให้กลับฟื้นขึ้นมาบอก ตายแล้วจะเป็นอย่างไร?
 ไม่ต้องรอให้วิญญาณญาติพี่น้องมาบอกในฝันหรือในนิมิต เรารู้ว่า เมื่อเราตายแล้วเราจะอยู่ที่ไหน 
เรารู้ได้ตั้งแต่เวลานี้ เรารู้จักตัวของเราดี ไม่ต้องห่วงคนอื่น เราความเป็นตัวของเราเองดี จากการกระทำของเรา 
พระเยซูเจ้าพระองค์ตรัสเสมอ “รางวัลของผู้ชอบธรรม หรือ รางวัลของคนดีมีศีลธรรม ก็คือ เมืองสวรรค์ 
ก็คือ การอยู่กับพระองค์ตลอดไป”

หากชีวิตของเราเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตคริสตชน เอาจริงเอาใจใส่ต่อการถือตามคำสอนของพระเยซูเจ้า ใส่ใจในความรักความเมตตา การให้อภัย การแบ่งปันน้ำใจให้แก่กันและกันในโลกนี้  แล้วเมืองสวรรค์จะไปไหน? 
เมืองสวรรค์จะเป็นของใคร? ก็ต้องเป็นของเรา  

เมืองสวรรค์คงไม่ใช่รางวัลสำหรับคนที่กระทำดังต่อไปนี้

การผิดประเวณี ความลามกโสมม การปล่อยตัวตามราตัณหา 
การกราบไหว้รูปเคารพ การใช้เวทมนตร์คาถา การเป็นศัตรูกัน 
การทะเลาะวิวาท ความอิจฉาริษยา ความโกรธเคือง การแก่งแย่งชิงดี 
การแตกแยก การแบ่งพรรคแบ่งพวก  การเมามาย การสำมะเลเทเมา (กท 5:19-21)

คนที่ดำเนินชีวิตในเรื่องเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้ หากเราจะถามต่อไปว่
 “ดังนี้แล้วใครจะรอดได้” พระเยซูเจ้าก็จะตรัสว่า “สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับพระเจ้าทุกสิ่งเป็นไปได้”

หากเราจะสังเกต ตามที่นักบุญเปาโลได้ให้รายละเอียดของคนที่จะไม่ได้เมืองสวรรค์เป็นมรดกนั้น 
เราจะเห็นว่า เรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องของ “การขาดความรักความเมตตาต่อกัน” 
หรือ “การไม่รักกันและกันเหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงรักเรา”
 สำหรับความรักความเมตตานั้น พระเยซูเจ้าสอนเราว่า 
“ท่านให้น้ำแก้วหนึ่งแก่คนเล็กน้อยหรือต่ำต้อยคนหนึ่ง ก็เท่ากับทำต่อเราเอง”

ดังนั้น ความรักความเมตตากรุณาต่อกันและกัน จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่จะนำเราไปสู่เมืองสวรรค์
“จงเป็นคนดีบริบูรณ์เหมือนดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ทรงความดีบริบูรณ์”

พีน้องที่รัก พระสันตะปาปาฟรังซิสบอกเราว่า ชีวิตคริสตชนขอเรา จะต้องให้พระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง 
หากเราเอาชีวิตของเราเองเป็นศูนย์กลางเราก็ไม่ใช่คริสตชนที่แท้จริง เราเป็นคริสตชนจอมปลอมเท่านั้นเอง..

ทำไม่พระสันตะปาปาตรัสเช่นนี้ เพื่อที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่ในหลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า
 หรือ เพื่อเราจะได้มีใจเมตตากรุณา ใจให้อภัย ใจที่เปี่ยมล้นด้วยความรักต่อกันและกันได้ 

จำเป็นต้องมีพระคริสตเจ้าในชีวิตของเรา เราจึงจะสามารถเอาชนะความลามกโสมมได้ 
สามารถเอาชนะความโกรธ การอิจฉาริษยากันได้ หรือแม้แต่การทะเลาะเบาะแว้ง 
เราก็สามารถเอาชนะได้ หากเรายึดพระเยซูเจ้าเป็นศูนย์กลางของชีวิต

พี่น้องที่เคารพรัก หากว่า ชีวิตนี้ของเรา เราไม่ต้องการพระเจ้า แล้วชีวิตในโลกหน้า
เราจะต้องการเจ้าหรือ? หากว่าในชีวิตนี้ เราไม่อยากเข้ามาหาพระองค์ ในชีวิตหน้า เราอยากจะอยู่กับพระองค์หรือ? 
คงเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น ไม่ว่าท่านมีชีวิตอยู่หรือตาย ท่านก็เป็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า

..ราไม่จำเป็นต้องถามและรอคอยคำตอบว่า ตายแล้วจะไปไหน? ตายแล้วจะเป็นอย่างไร? 

พระศาสนจักรสอนเราว่า “ตายแล้วเราจะไปอยู่สวรรค์ ตายแล้วเราจะมีความสุขตลอดนิรันดร 
สำหรับผู้ที่เป็นคนดีในสายตาของพระเจ้าเท่านั้น”




วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2556

อาทิตย์ 29 ธรรมดาปี C


บทเทศน์

การภาวนาและความเชื่อ

การภาวนาและความเชื่อจะต้องเคียงคู่กันไปเสมอ ในทำนองที่ว่า เป็นเพื่อนรักกัน เมื่อมีการภาวนา ก็ย่อมมีความเชื่อ เมื่อมีความเชื่อก็ย่อมภาวนา ไปด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน เหมือนกับพระบัญญัติเอก คือ รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง นี่ก็ไปเป็นคู่ ๆ จะทิ้งสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้

เราได้ชื่อว่าเป็นคริสตชน เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า เป็นผู้มีความเชื่อ  เราไม่สามารถบอกได้ว่า เรามีความเชื่อ โดยปราศจากการสวดภาวนา หรือ เราภาวนาโดยไม่มีความเชื่อ ก็เท่ากับว่า เราพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ เหมือนคนต่างศาสนา ไม่มีประโยชน์อะไร?

การภาวนาเป็นการเผชิญหน้ากับพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้า เผชิญหน้าต่ออำนาจของพระเจ้า อำนาจแห่งความรักของพระองค์ ทุกครั้งที่เราภาวนา เราได้รับการหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมจากความรักของพระองค์ที่ทรงห่อหุ้ม หรือ โอบล้อมชีวิตของเรา
ความเชื่อเป็นการเดินทางมุ่งไปสู่พระคริสตเจ้าและพบปะกับพระองค์ ในรูปแบบของปัสกา คือ กางเขนและการกลับคืนชีพ หลายครั้งการภาวนาของเรา เราไม่สามารถเข้าถึงกางเขนและการกลับคืนชีพกับพระคริสตเจ้าได้ เพราะว่ามีความจำเป็นหลายอย่างในชีวิต ทำให้เราเข้าถึงพระองค์ไม่ได้ เราเชื่อ เราภาวนาวอนขอแต่สิ่งที่จำเป็นหรับโลกนี้ เราภาวนาเหมือนกับว่าเราบังคับพระเจ้าได้ ต้องได้เดี๋ยวนี้ เวลานี้ และเราภาวนามีเงื่อนไขเสมอ.. นี่จะทำให้เราเข้าสู่ชีวิตของพระเจ้าไม่ได้

การภาวนา เป็นการแสดงออกถึงความเชื่อ ความวางใจ ในความรักของพระเจ้า ซึ่งท่าทีของการภาวนาจะต้องแสดงออกถึงความสุภาพ ถ่อมตน และรอคอยด้วยความหวังและความวางใจ และที่สำคัญ เราจะต้องภาวนาด้วยความเพียรทน..

พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ ในบทอ่านที่1 สงครามกับชาวอมาเลข สิ่งสำคัญคืออะไร? ไม่ใช่ความเข้มแข็งของกองทัพ ไม่ใช่ความเก่งกาจของแม่ทัพ ไม่ใช่เพราะจำนวนมากมายของนายทหาร แต่อยู่ที่มือทั้งสองข้างของโมเสส ซึ่งยกขึ้น แสดงออกถึงการภาวนาถึงพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ เป็นการภาวนาด้วยความเพียรพยายาม เราจะสังเกต โมเสสยกมือขึ้นตั้งเช้าจนถึงตะวันตกดิน และพวกเขาก็ได้รับชัยชนะ เป็นชัยชนะที่ได้รับมาโดยอาศัยพระเจ้า

ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงสอนเราว่า “จำเป็นต้องอธิษฐานภาวนาอยู่เสมอโดยไม่ท้อถอย” และพระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างของหญิงม่ายที่ต้องการความยุติธรรม โดยรบเร้าผู้พิพากษาคนหนึ่งให้ช่วยนาง ด้วยความเพียรทน และด้วยความอดทน พยายาม จนในที่สุดผู้พิพากษาคนนั้นก็ยอมว่าความและนำความยุติธรรมมาให้แก่หญิงม่ายคนนั้น เพราะเห็นแก่ความเพียร อดทน พยายามของนาง

เราจึงเห็นได้ว่า การภาวนาด้วยความเพียรทน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเราคริสตชน เพราะการภาวนาเป็นการทำให้ความเชื่อของเราเติบโตในความวางใจและความรักที่เรามีต่อพระเจ้าของเรา ในพระวรสารตอนท้าย ๆ พระเยซูเจ้าทรงท้าทายเราว่า “เมื่อบุตรแห่งมนุษย์เสด็จมาจะพบความเชื่อในโลกนี้หรือ?” พระองค์ทรงท้าทายเราว่า เมื่อพระองค์เสด็จมา เราจะยังคงมีความเชื่อในพระองค์อีกหรือ?  หากเราไม่ภาวนา แน่นอนว่า ความเชื่อของเราก็คงจะดับไป คงจะไม่เหลืออยู่อย่างแน่นอนในวันที่พระคริสตเจ้าเสด็จมาอีกครั้งหนึ่ง

พระสันตะปาปาฟรังซิส ย้ำเตือนจิตใจของบรรดาคริสตชนว่า “เราจะต้องภาวนาอยู่เสมอ ไม่ใช่ทำเป็นสวดภาวนาต่อหน้าคนอื่น” การภาวนานี้ พระสันตะปาปา หมายถึง การภาวนาจากใจ ภาวนาจากหัวใจ ด้วยความสุภาพ ถ่อมตน และด้วยความวางใจ การภาวนานี้ พระองค์ไม่ได้หมายถึงการภาวนาตามบทสวด ท่องตามบทให้มันผ่าน ๆ  แต่ไม่ได้เข้าลงลึกในหัวใจของเรา


การภาวนาเป็นการแสดงออกของความเชื่อ  การภาวนาเป็นเติมไฟในความเชื่อของเราให้เข้มแข็งและให้ลุกโชติช่วงอยู่เสมอ