BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

เข้าเงียบประจำเดือนสงฆ์ 2018

บทเทศน์เข้าเงียบประจำเดือนพระสงฆ์
อัครสังฆมณฑล ท่าแร่ -หนองแสง
6 มีนาคม 2018

พระวรสาร ยน 15:1-10

พระคุณเจ้า คณะสงฆ์ที่เคารพรัก ถือว่าเป็นพระพรของพระเจ้าสำหรับผมที่จะได้มาเทศน์เข้าเงียบประจำเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเดือนนี้ก็มีความสำคัญคือ เป็นเดือนมหาพรต และเป็นช่วงเวลาก่อนการโยกย้ายของพระสงฆ์ในมิสซังของเรา (หลายคนอาจจะตื่นเต้น หลายคนอาจจะดีใจ หลายคนอาจจะรู้สึกว่าแล้วแต่)

ชีวิตของผมเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน บวชมา 12 ปี 8 เดือนแล้ว  ผมบวชเมื่อมี 2005 พร้อมกับคุณพ่อชัยวิชิต เป็นผู้ช่วยวัดท่าแร่ 1ปี ครึ่ง และไดรับแต่ตั้งเป็นเจ้าวัดนาคำ-นาทันเมื่อ มกราคม 2007 ถึง เมษายน 2008 ตลอดปี 2008 ก็ได้เตรียมภาษาอิตาเลียน แต่ก็ต้องไปช่วยงานตามวัดต่าง ๆ รวมทั้งมิสซังอุดร 3 เดือน จะได้เรียนภาษาจริงๆ กับคุณพ่อวอลเตอร์ ที่บางตาล ก็ปี 2009 และในวันที่ 29 มิถุนายน ก็เดินทางไปกรุงโรม เรียนที่นั่น 2009-2011 เป็นเวลา 2 ปี เมื่อกลับมาก็อยู่บ้านเณร เป็นรองอธิการพ่อช้าง 2 ปี และเป็นอธิการ 5 ปี การเทศน์ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สาม เทศน์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ครั้งที่สอง ปี 2011 และครั้งนี้ก็ ปี 2018 จะเห็นว่า ระยะเวลาห่างกันเริ่มมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ  ครั้งต่อไปอาจจะอีก 2025 ก็ได้

อยู่ที่บ้านเณร เวลาที่พระคุณเจ้ามาเยี่ยม ก็จะพูดให้กำลังใจเสมอว่า คนที่อยู่บ้านเณรเมื่อตายไปแล้วก็ไม่ต้องไปไฟชำระ (ยิ้ม แสดงว่าไฟชำระมีอยู่จริง)

ในการเทศน์ครั้งแรก ผมได้เทศน์เรื่องชีวิตสงฆ์ เนื่องจากบวชใหม่ๆ  ครั้งที่สอง เรื่อง ครอบครัวนาซาแรธแบบอย่างครอบครัวสงฆ์ เนื่องจากจบจากการเรียนเรื่องครอบครัวที่กรุงโรมใหม่ๆ และครั้งนี้ จะเทศน์เรื่อง “การเป็นบุตรของพระเยซูเจ้ารูปแบบชีวิตพระสงฆ์”  เพื่อเป็นการเน้นและย้ำเตือนตนเองและเราทุกคนที่เป็นสงฆ์ของพระคริสตเจ้า
อันดับแรก เราจะพบการยืนยันถึงในฐานะทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าในพระวรสาร การเป็นบุตรพระเจ้าไม่ใช่ในความหมายที่ว่า พระเจ้าแต่งงานได้ พระเจ้ามีภรรยาได้และให้กำเนิดบุตรได้ หรือภรรยาของพระเจ้าคือมารีย์ เพราะพระเยซูเจ้าบังเกิดในครรภ์ของพระนางมารีย์โดยพระจิตเจ้าเสด็จเหนือพระนาง ไม่ใช่ในความหมายนี้ แต่ในความหมายที่ว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแต่รับสภาพมนุษย์ พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้าและพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้ พระวจนาตถ์ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ และเสด็จมาประทับอยู่ในหมู่เรา (John 1:114). พระเยซูเจ้าเป็นมนุษย์ เพราะพระองค์ทรงบังเกิดในครรภ์ของพระนางมารีย์ พราะฉะนั้น บุตรที่เกิดมาจะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และจะรับนามว่าบุตรของพระเจ้า (Luke 1:35) ในพระวรสารนักบุญมัทธิว พวกสมณะถามว่า ท่านเป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิตหรือ? (Matthew 26:63) และเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำชาวยิวตามกล่าวโทษพระเยซูเจ้า ก็คือ พระองค์อ้างว่าตัวเองเป็นบุตรของพระเจ้า เพราะเนื้อแท้ บุตรของพระเจ้า ก็คือ พระเจ้า นั่นเอง
ลักษณะของการเป็นบุตรของพระเยซูเจ้าก็คือ  ความนบนอบเชื่อฟัง

หลังจากรับพิธีล้าง มีเสียงจากสวรรค์ว่าผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา(มธ 3:17) บนภูเขาสูง มีเสียงดังจากเมฆว่าท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด(มธ 17:5)
พระองค์นอบน้อมเชื่อฟัง พระบิดาเจ้าสวรรค์  แม้ว่าพระองค์จะได้สอนให้บรรดาโดยคำพูดอย่างตรงๆ ว่าจงนอบน้อมเชื่อฟังพระบิดาเจ้าสวรรค์ ก็ตาม แต่สิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ และจากคำพูดของพระองค์ก็เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่า พระองค์ทรงเสด็จมาในโลกมิใช่เพื่อทำตามใจตัวเอง แต่พระองค์เสด็จมาเพื่อทำตามพระประสงค์ของพระบิดา

เหตุการณ์ในสวนเกตเสมนี
พระองค์ทูลว่าอับบา พระบิดาเจ้าข้า พระองค์ทรงทำทุกสิ่งได้ โปรดทรงเอาถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า แต่ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด (มธ 14:36)

เหตุการณ์ที่บ่อน้ำของยาโคบ
พระเยซูเจ้าได้พบปะกับหญิงชาวสะมาเรีย (คุยผู้สาว) บรรดาศิษย์ไปซื้ออาหารมา และนำอาหารมาให้พระองค์ พระเยซูเจ้าตรัสว่า อาหารของเรา คือการทำตามพระประสงค์ของพระผู้ทรงส่งเรามา และการประกอบภารกิจของพระองค์ให้สำเร็จลุล่วงไป (ยน 4:34)

เหตุการณ์ที่สระเบเธสดา
เมื่อพระองค์รักษาคนป่วยมานานถึง 38 ปี แล้ว ชาวยิวตำหนิว่าทำไมต้องรักษาในวันสะบาโต เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า พระบุตรไม่ทำสิ่งใดตามใจของตน แต่ทำเฉพาะสิ่งที่ได้เห็นพระบิดาทรงกระทำเท่านั้น เพราะสิ่งใดที่พระบิดาทรงกระทำ พระบุตรก็ย่อมกระทำเช่นเดียวกัน”    (ยน 5:19)

เราทำอะไรตามใจของเราไม่ได้ เราได้ยินมาอย่างไร เราก็พิพากษาอย่างนั้น และคำพิพากษาของเราก็ถูกต้องเพราะเรามิได้แสวงหาที่จะทำตามใจของเรา แต่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา  (ยน 5:30)

ที่กรุงเยรูซาเล็ม ในเทศกาลอยู่เพิง
ชาวยิวที่กรุงเยซาเล็มแปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนในพระวิหาร เพราะองค์เป็นชาวบ้านๆ บ้านนอก จะพูดถึงพระเจ้า พระเทศน์สอนได้อย่างไร? พระเยซูเจ้าจึงตรัสว่า
คำสอนของเราไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงส่งเรามา  ผู้ใดต้องการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นจะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจตนเอง  (ยน 7:16-17)

นี่คือ หลักฐานและคำพูดของพระเยซูเจ้าที่บอกเราว่า ชีวิตของพระเยซูเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาเสมอ พระเยซูเจ้าทรงนอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบิดาเจ้า พระองค์ทรงทุ่มเทและอุทิศตนเองให้กับพันธกิจของพระบิดาสุดชีวิตของพระองค์ นอบน้อมในแบบไม่บ่น ไม่เถียง (เราเคยได้ยินพระเยซูเจ้าเถียงความพระบิดาไหม? ไม่เคย เราเคยได้ยินพระเยซูเจ้าบ่นต่อพันธกิจของพระบิดาไหม? ก็ไม่เคย และไม่มีบันทึกไว้) แต่มุ่งหน้าทำภารกิจให้สำเร็จ แม้จะยากลำบากใจ แม้จะไม่เข้าใจ แต่พระองค์ก็มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ของพระองค์อย่างสุดกำลังของพระองค์ แบบอุทิศตนเองทั้งครบให้กับพันธกิจนี้ คือการช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นในคำพูด คำสอน และชีวิต
เราจะสังเกตว่า ความนบนอบเชื่อฟัง หรือ การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาของพระเยซูเจ้านั้น ไม่ใช่มาจากภายนอก บีบบังคับให้เชื่อฟัง ไม่ใช่มาจากสถานการณ์ของสังคม ที่ทำให้พระองค์ต้องเชื่อฟังและทำตาม แต่เป็นสิ่งที่ออกมาจากหัวใจ มาจากเนื้อแท้ แก่นแท้ภายในชีวิตของพระองค์ พระองค์ทำตามพระประสงค์ของพระบิดาด้วยเนื้อแท้ของพระองค์อย่างแท้จริง

เมื่อเราเป็นสามเณร ทุกคนได้รับการอบรมให้แยกแยะน้ำใจตนเอง กับ พระประสงค์ของพระเจ้า ผ่านทางการถือตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด อธิการทุกคนสอนให้เรายึดพระประสงค์ของพระเจ้าเป็นหลักในชีวิต ระเบียบวินัยคือพระประสงค์ของพระเจ้า ซึ่งเวลาที่เป็นเณร คงไม่มีใครเข้าใจหรอกว่า ระเบียบวินัยจะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้าได้อย่างไร? มีแต่จะรู้สึกว่า ทำไมพระประสงค์ของพระเจ้า จึงปฏิบัติยากลำบากอย่างนี้ มีเณรหลายคนที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นเณรได้เพราะถือระเบียบไม่ได้ และหลายคนมาลาออก เพราะถือระเบียบยาก เคร่งเกินไป เป็นต้น
สามเณรได้รับการฝึกฝนให้รู้จักนบนอบต่อระเบียบวินัย แม้จะยังไม่เข้าใจถึงคุณค่าของการถือตามระเบียบวินัยก็ตาม แต่ทุกคนก็ต้องปฏิบัติตาม เช่น การเข้าวัดเพื่อสวดภาวนาและร่วมมิสซาทุกเช้า เราฝึกฝนให้สวดเช้า เที่ยงเฝ้าศีล เย็นสวด ค่ำสวดภาวนา  ทุกๆ วัน เพื่อให้เป็นชีวิตของเรา มีเบื่อบ้าง มีเซ็งบ้าง แต่ก็ต้องสวดภาวนา สามเณรที่ออกไป (เณรฮาด) ไม่ยอมเข้าวัด ไม่ยอมสวดภาวนา เราก็ตำหนิว่า เขาเป็นเณรอย่างไร? เป็นเณรแบบไหน? แต่หากเราซึ่งเป็นพระสงฆ์ แต่ไม่ทำมิสซาทุกวัน ไม่สวดภาวนาทุกวัน ไม่เฝ้าศีลสม่ำเสมอ ไม่อ่านพระคัมภีร์ เราก็ไม่ต่างจากเณรฮาด ที่เราบอกว่า เขาเป็นเณรแบบใด? และเราก็เป็นพระสงฆ์แบบไหน?
ฝึกหนักขนาดนี้ เป็นพระสงฆ์ก็ยังได้แค่นี้ ทั้งๆ ที่ ฝึกหนักขนาดนี้ เป็นพระสงฆ์ก็ยิ่งต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้นไปอีก

เราได้ยินเสมอว่า เป็นเณรอย่างไร เป็นพระสงฆ์อย่างนั้น จริงไหม? เป็นเณรดีมาก เป็นพระสงฆ์ดี เป็นเณรดี เป็นพระสงฆ์พอใช้ เป็นเณรพอใช้ เป็นพระสงฆ์แย่ เป็นเณรแย่ ไม่ต้องพูดถึงการเป็นพระสงฆ์  มันก็มีส่วนจริงบ้างไม่จริงบ้าง แต่หากเป็นเณรพอใช้ทุกวันนี้ อธิการให้ออกหมดแล้ว ไม่ต้องไปเป็นพระสงฆ์
ที่ว่าเรื่องนี้จริง ผมมองดูเณรเล็ก เณรใหญ่ และพระสงฆ์  สังเกตง่าย ๆ จากการแต่งกาย ที่เณรเล็กผมสอนให้เณรรู้จักใส่เสื้อสุภาพเข้าวัด ห้ามใส่กางเกงกีฬาเข้าวัดและเสื้อกีฬาด้วยเด็ดขาด และต้องใส่เสื้อเข้าข้างในกางเกงด้วย แม้แต่ในห้องอาหารก็ต้องไม่ใส่ชุดให้เรียบร้อย ไม่ใช่ใส่กางเกงกีฬามากินข้าว ก็พอฝึกได้เมื่ออยู่ในบ้านเณร แต่พอไปเณรกลาง และเณรใหญ่ เขาแยกแยะไม่ออกว่าจะทำอย่างไร? จะแต่งตัวแบบไหนที่เรียกว่าเหมาะสม บางคนใส่เสื้อกีฬาเข้าวัด บางคนใส่กางเขงขาสั้นเข้าวัด หากเขาได้เป็นพระสงฆ์ เราก็ย่อมรู้ว่า เขาจะแต่งตัวแบบไหน?
เมื่อเณรใหญ่ปิดเทอมและไปช่วยงานวัดหรือ อยู่ที่บ้าน ผมพยายามเน้นว่า ต้องสวดทำวัตร ต้องเฝ้าศีล ต้องสวดสายประคำ ต้องเยี่ยมเยียนชาวบ้านนะ เพราะนี่คือกิจ หรือ งานของพระสงฆ์ ต้องฝึกไว้ หากเป็นพระสงฆ์จะได้สามารถทำสิ่งนี้ได้เมื่ออยู่คนเดียว แต่หลายครั้งพบว่า การสวดภาวนาอย่างเสม่ำเสมอนั้น เป็นเรื่องลำบาก ยิ่งการเฝ้าศีลแล้วด้วยซ้ำ ยากไปกว่าอีก หากเรามองดูชีวิตสงฆ์ของเรา เราเฝ้าศีล เราอยู่ต่อหน้าพระเยซูเจ้าวันละกี่นาที หากไม่นับเวลาทำมิสซา เราเข้าวัดอีกไหม? ทั้งๆ ที่ เนื้อแท้ และธรรมชาติของพระสงฆ์จะต้องติดกับลำต้น จะต้องสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า เป็นต้น
เพราะความนบนอบ นอบน้อมเชื่อฟังต่อพระบิดา จึงทำให้พันธกิจของพระเยซูเจ้าสำเร็จไป การทำตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเพื่อให้เป็นจริง พระเยซูเจ้าสอนเราให้รู้จัก รับใช้ ความนบนอบและการรับใช้ จึงไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้  และ เพราะความนบนอบของพระสงฆ์ มิสซังของเราก้าวหน้า เติบโตในความศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน

อับราฮัม บุรุษแห่งความเชื่อ
โยเซฟ บุรุษแห่งความชอบธรรม
พระสงฆ์ บุรุษแห่งความนบนอบเชื่อฟัง

พระสงฆ์คือผู้ที่ได้รับการเรียกและเลือกเป็นพิเศษจากพระเจ้า ไม่ใช่ในเวลานี้เท่านั้น แต่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา (เทียบ อสย 49:1) และพระองค์ทรงเรียกเราทุกคนให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์เพื่อทำพันธกิจของพระองค์
ในเอกสาร “The Gift of the Priestly Vocation” ข้อที่ 35 บอกว่า พระสงฆ์ ผู้ต้องเป็นเหมือนพระคริสตเจ้า ต้องมีส่วนร่วมในสังฆภาพหนึ่งเดียวของพระองค์ และในพันธกิจเพื่อความรอดพ้นในฐานะผู้ร่วมงานกับพระสังฆราช ด้วยวิธีนี้ เขาจึงเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้ของความรักของพระบิดาเจ้าในพระศาสนจักรและโลก
39 ศีลบวชของพระสงฆ์ กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับศีลบวชถวายตนเองเพื่อประชากรของพระเจ้า
ดังนั้น การเป็นพระสงฆ์ จึงเป็นการติดตามพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง ติดตามพระเยซูเจ้าเท่านั้น เพราะเมื่อพระองค์ทรงเรียกเรา เราได้ตอบรับต่อพระองค์ เราขานรับต่อพระนามของพระองค์และเราได้มอบชีวิตของเราไว้ในเส้นทางของพระองค์
          พระสงฆ์จึงต้อบนบนอบ/เชื่อฟัง เหมือนอย่างพระเยซูเจ้าทรงกระทำเป็นแบบอย่าง พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตร  จึงเชื่อฟังพระบิดา ส่วนมนุษย์เป็นบุตรพระ  จึงต้องเชื่อฟังพระ มีพระอะไรบ้าง  1. พระเจ้า 2.พระนางมารีย์ 3.พระศาสนจักร 4. พระสังฆราช 5. พระสงฆ์)
          การนบนอบจะต้องมาจากภายใน อิสรภาพ อำเภอใจ เสรีภาพ และการตัดสินใจเลือก ไม่ใช่มาจากการบีบบังคับ ไม่ใช่มาจากสภาวะยอมจำนอน ไม่ใช่จากสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะคุณค่าของความนบนอบเชื่อฟังมาจากการกระทำภายในใจ
ผมอบรมเณรว่า หากเณรทำตามระเบียบโดยไม่มีจิตใจ เขาก็เป็นเพียงหุ่นยนต์ และจะรู้สึกเบื่อหน่าย เซ็ง ยุ่งยาก ระเบียบก็จะเป็นเหมือนกับ “กฎ ที่ กดขี่ข่มเหง” แต่หากเณรทำตามระเบียบวินัยด้วยจิตใจที่อยากจะฝึกตนเอง อยากจะก้าวหน้า ระเบียบวินัย ก็จะเป็น “ความนบนอบ”
            ผมประกาศกับเณรว่า ปีนี้ อธิการและผู้ช่วยทุกคนหมดวาระ และมิสซังจะทำการย้ายใหญ่ เณรอยากได้ใครมาเป็นอธิการ? เณรคนหนึ่งถามว่า “ผมเลือกได้ไหม?” ผมก็ตอบว่า “เลือกได้  แต่ถ้าหากเลือกแล้วไม่ได้ดังใจ เธอจะอยู่ได้ไหม? เธอจะมีความสุขไหม?” เณรถามอีกว่า สรุปแล้วผมเลือกอธิการไม่ได้ ผมตอบ ใช่ ที่เธอจะเลือกคือ เลือกที่จะเชื่อฟังอธิการคนใหม่ด้วยใจอิสระก็พอ แล้วเธอจะมีความสุข

ขอพระเจ้าอวยพรพี่น้องสงฆ์ทุกท่านครับ