วันอังคาร ที่ 8 พฤษภาคม 2012
บทเทศน์เข้าเงียบพระสงฆ์
ประจำเดือนพฤษภาคม 2012
หัวข้อ ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แบบอย่างครอบครัวสงฆ์
พระคุณเจ้า และคณะสงฆ์ที่เคารพทุกท่าน ผมคุณพ่อวิโรจน์
โพธิ์สว่าง บวชมาได้ 6 ปีกว่า ๆ มาแล้ว เดือนมิถุนายน ก็ครบ 7 ปีครับ
นี่ก็เป็นครั้งที่
2 ของการเทศน์เข้าเงียบสำหรับพระสงฆ์ในอัครสังฆมณฑลของเรา
ผมได้เลือกหัวข้อที่จะมาเทศน์ในวันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ครอบครัว ในหัวข้อที่ว่า ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แบบอย่างของครอบครัวสงฆ์
ผมได้เลือกหัวข้อนี้
เพราะคิดว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กันและกันด้วย เพราะว่า
ชีวิตสงฆ์เป็นชีวิตแห่งครอบครัว
หมายความว่า ชีวิตของพระสงฆ์ไม่ใช่ชีวิตตามลำพัง
แต่เป็นชีวิตที่อยู่ร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียวกันในความเป็นสงฆ์
และเราก็เป็นสงฆ์ในครอบครัวของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
โดยมีพระคุณเจ้าหลุยส์จำเนียร เป็นเสมือนบิดา เรามีสงฆ์ที่บวชมาแล้ว 50 ปี 25 ปี เป็นเสมือนผู้หลักผู้ใหญ่ ที่เป็นหลัก
เป็นเสาเอก ค้ำยัน พยุงครอบครัวนี้ให้มั่นคง ให้ตั้งมั่น จนมาถึงทุกวันนี้
เรามีสงฆ์รุ่นพี่ ที่เป็นเสมือนพี่ชาย
และเรามีสงฆ์รุ่นน้องที่เป็นเสมือนน้องชายของเรา นี่คือครอบครัวสงฆ์
ที่มีเพียงบิดา พี่ชาย น้องชาย เราก็สามารถดำรงอยู่กันได้
อย่างเป็นปึกแผ่นและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีแม่ หรือ พี่สาว
หรือ น้องสาวก็ได้ เพราะครอบครัวของเราเป็นครอบครัวสงฆ์ที่ได้รับการเลือกสรร
การเจิม การเสก และการปกมือ ไม่ใช่ครอบครัวสงฆ์แห่งศีลล้างบาป ถ้าเราพูดถึงครอบครัวสงฆ์แห่งศีลล้างบาปแน่นอนว่า
ทุกคนก็คือพ่อแม่พี่น้องชายหญิงของเรา..
ก่อนอื่นหมด
ผมอยากจะเชิญชวนให้เราดู ชีวิตครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งผมถือว่าเป็นแบบอย่าง
หรือรูปแบบชีวิตของครอบครัวสงฆ์ของเรา
หากครอบครัวสงฆ์ไม่ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่า
เราคงกำลังจะหลงทาง และกำลังทำลายครอบครัวของเราเอง
ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์หรือครอบครัวแห่งนาซาเร็ท
ประกอบด้วย พระนางมารีย์ นักบุญยอแซฟ และพระเยซูเจ้า
พระสันตะปาปาเปาโลที่
6 ตรัสไว้ว่า “ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งนาซาเร็ทเป็นเสมือนแบบอย่างสำหรับครอบครัวคริสตชนทั้งหลาย
(รวมทั้งครอบครัวสงฆ์ด้วย) ครอบครัวเป็นโรงเรียนสำหรับการเรียนรู้ หรือ
การเข้าใจพระเยซูเจ้าอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ มันเป็นเสมือนที่บ่มเพาะข่าวดีนั่นเอง
และทุกครอบครัวต้องเป็นที่บ่มเพาะข่าวดีที่ซึ่งเราฝึกฝน และเรียนรู้ที่จะรู้จัก
และเรียนรู้ความรักของพระเจ้า ซึ่งอยู่ท่ามกลางชาวเรา”
จากถ้อยคำของพระสันตะปาปา
ทำให้เกิดคำถามขึ้นหลาย ๆ คำถามว่า ในครอบครัวสงฆ์ของเราเป็นเช่นนี้หรือไม่?
ครอบครัวสงฆ์ของเราเป็นสถานที่ที่เราพบกับพระเยซูเจ้า
หรือเป็นกลุ่มชนพิเศษที่ทำให้ตัวของเราแต่ละคนเป็นข่าวดีของพระเจ้าหรือไม่?
ครอบครัวสงฆ์บ่มเพาะข่าวดีของพระเจ้า หรือว่า
สะสมสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ข่าวดีของพระองค์หรือเปล่า?
ครอบครัวสงฆ์ของท่าแร่..โดดเด่นในเรื่องอะไร? พระวาจาของพระเจ้า เทววิทยา
พระคัมภีร์ ศีลธรรม จริยธรรมที่เที่ยงตรง ความสัมพันธ์แห่งความเป็นพี่น้อง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
หรือว่า โดดเด่นในเรื่องการแสวงหาการลงทุน เงินทอง การก่อสร้างตึกใหญ่
เรามองหน้ากันและกัน เราพบใบหน้าของพระเยซูเจ้าหรือเปล่า?
เรามองดูความประพฤติของกันและกันแล้วเราพบว่า แต่ละคนเป็นข่าวดี หรือ
เป็นพระวรสารสำหรับเราไหม? หรือว่า ตัวเราเองเป็นข่าวดีสำหรับเพื่อนพี่น้องสงฆ์ไหม?
(น่าคิด) อย่าให้ความประพฤติของเรากลายเป็นข่าวร้ายสำหรับครอบครัวของเรา..
เราจะต้องระมัดระวังตนเองให้มากยิ่งขึ้น..
เพราะ หากว่าพื้นฐานครอบครัวสงฆ์ของเราไม่ได้ตั้งมั่นในข่าวดีของพระเจ้าแล้ว
ครอบครัวสงฆ์จะเป็นแบบอย่าง และสอนชีวิตครอบครัวคริสตชนได้อย่างไร?
มีพระสงฆ์กี่คนที่อ่านพระคัมภีร์เป็นร่ำเป็นสัน
หรือ อย่างจริง ๆ จัง ๆ (ตามที่พระคุณเจ้าได้แนะนำ และเตือน) มีพระสงฆ์สักกี่คนที่รำพึง
และไตร่ตรองพระวาจาของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ มีพระสงฆ์กี่คนที่อ่านและแสวงหาความรู้ทางเทววิทยาใหม่
ๆ อยู่เสมอ
เราจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในการสร้างบ้านแห่งพระวรสาร สร้างครอบครัวแห่งข่าวดีของพระเยซูเจ้า
โดยเริ่มต้นจากตัวเองที่ต้องเอาใจใส่ต่อพระวาจาของพระเจ้า
แค่อ่านในพระวรสารประจำวัน คงไม่พอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตสงฆ์ของตนเอง
และหล่อเลี้ยงชีวิตแห่งความเชื่อของสัตบุรุษ อย่างแน่นอน..
นอกจากนี้ พระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ยังได้บอกว่า
ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์แห่งนาซาแร็ท สอนเราในเรื่องของ ความเงียบ รู้จักความเงียบ
นั่นคือ การรู้จักเงียบเพื่อที่จะฟังหรือสัมผัสลมหายใจของพระเจ้าในการภาวนา
เราจำเป็นต้องนิ่ง และเงียบ เพื่อมุ่งไปสู่ส่วนลึกที่สุดในหัวใจของเรา
เพราะว่าในบรรยากาศของความเงียบ เป็นเสมือนการพบปะกับพระเจ้า ในความเงียบ
จะเป็นการทำงานของพระจิตเจ้าในตัวเรา
โลก..มีแต่ความสับสนวุ่นวาย
ความอึกทึก ความกังวล การดิ้นรน การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ความมัวเมาทางโลกวัตถุ กระแสสังคมที่ทำให้เรามองพระเยซูเจ้าไม่ชัดเจน
บ้านแห่งนาซาแร็ท สอนเราให้ หยุด
นิ่ง และมุ่งไปหาพระเจ้า
เพราะพระองค์จะทรงนำทางชีวิตของเราในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์แต่องค์เดียวที่แท้จริงของเรา
ความเงียบดูเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตสงฆ์ของเรา
ดังคำกล่าวว่า “นิ่งสงบ สยบความเคลื่อนไหว”
และยิ่งมากกว่านั้นในชีวิตสงฆ์ของเรา ความเงียบไม่ใช่แค่สยบความเคลื่อนไหว
แต่มีค่ามากกว่านั้น ก็คือจะทำให้เราพบกับพระเจ้า จะทำให้เราได้ยินเสียงของพระเจ้า
คนที่รู้จักเงียบ และรู้จักความเงียบ จะเป็นคนที่มีความพอเพียง
และเพียงพอในชีวิต เขาจะไม่แสวงหาอะไรมากมายเกินความจำเป็น
และจะไม่มองเห็นว่าทุกสิ่งเป็นความจำเป็นทั้งหมดของชีวิต
ความเงียบจะทำให้เราคิดและตระหนักว่า พระเจ้าเท่านั้น การติดตาม
และแสวงหาพระเจ้าเท่านั้นที่มีค่าและสำคัญที่สุดในชีวิต
นิ่ง และ หยุด คิด และไตร่ตรอง นำมาซึ่งความรอบคอบ และสุขุม สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นความแน่นอน
มั่นคง และเกิดประโยชน์สูงสุด
ตรงข้าม นิ่ง และ หยุด แล้วไม่ทำอะไรเลย นำมาซึ่งความเกียจคร้าน
และความไม่สนใจ เท่ากับ แย่.. เพราะผลที่ได้มีแต่ความเสียหาย
การตัดสินใจที่เร็ว
แต่ถูกต้อง แม่นยำ และเกิดประโยชน์นั้น มาจากการมีประสบการณ์ของความนิ่ง ความสงบ
และ การไตร่ตรองมาอย่างดี
แต่ถ้าช้า
แล้วไม่ตัดสินใจอะไรเลย ก็แสดงว่า ภายในจิตใจนั้น กลวง..คือ ไม่มีอะไรเลย
จึงไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไร?
นี่คือ ข้อคิดที่มาจากพระสันตะปาปาเปาโลที่
6
เอกลักษณ์ของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
คือ อะไร?
มีครูเณรคนหนึ่งถามผมว่า
คุณพ่อครับ อะไรที่ทำให้บรรดาคุณพ่ออยู่ด้วยกันได้อย่างสันติสุข? พระเจ้าหรือ?
ผมก็ตอบว่า
ใช่แล้ว..พระเจ้าทำให้บรรดาคุณพ่อสามารถอยู่ด้วยกันได้..แต่สิ่งสำคัญที่เป็นรูปธรรมมากกว่านั้นอีกก็คือ
ความนบนอบ.. ถ้าพระสงฆ์ขาดความนบนอบแล้ว ครอบครัวสงฆ์ แตก เน่า เละ อย่างแน่นอน
เพราะว่า ความนบนอบ เป็นคุณธรรมที่สุดยอด แม้จะไม่ใช่ที่สุด ก็ตาม ถ้าบ่มีคุณธรรมของความนบนอบแล้ว
พระสงฆ์ตีกันตาย
ในงานเขียนของนักบุญออกัสติน
ในเรื่อง ศักดิ์ศรีของการแต่งงาน ในข้อที่ 23 ท่านได้พูดถึงคุณธรรมความนบนอบว่า L’obbedienza è la madre di tutte le virtù นั่นคือ ความนบนอบเป็นมารดาแห่งฤทธิ์กุศลอื่น ๆ และได้เปรียบเทียบเรื่องการแต่งงานและการถือพรหมจรรย์นั้นเป็นความดีทั้งสองที่แยกกันไม่ได้
แตกต่างจาก การไม่ดื่มเหล้า และการเมาเหล้า หรือความนบนอบ กับความไม่นบนอบ ซึ่ง
อันหนึ่งเป็นความดี ส่วนอีกอันหนึ่งเป็นความชั่ว เป็นต้น
ความนบนอบเชื่อฟัง
เป็นเอกลักษณ์ และคุณลักษณะที่เด่นชัดที่สุดของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์นี้
ที่เราสามารถพบได้ในพระวรสาร
เริ่มต้นจากแม่พระ
นบนอบเชื่อฟังเสียงของพระเจ้า (ลก 1:26-38) โดยผ่านทางการแจ้งข่าวของทูตสวรรค์กาเบรียล “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า
ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด (ลก 1:38)
สำหรับนักบุญโยเซฟ
นอบนอบเชื่อฟังเสียงของพระเจ้า โดยผ่านทางทูตสวรรค์ของพระเจ้าที่มาเข้าฝัน (มธ1:19) เมื่อท่านตื่นขึ้น ท่านก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งไว้
คือ รับภรรยามาอยู่ด้วย (มธ 1:24)
สำหรับพระเยซูเจ้า
ผู้นิพนธ์พระวรสารได้พูดถึงความนบนอบเชื่อฟังต่อพระบิดาเจ้าเยอะมาก
ที่เด่นชัดก็คือ ก่อนจะถูกจับกุม พระเยซูเจ้าทรงไปที่สวนมะกอก (สวนเกทเสมนี มธ 26:36, มก 14:32)
อธิษฐานภาวนาว่า พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์
โปรดทรงนำถ้วยนี้ไปจากข้าพเจ้าเถิด แต่อย่าให้เป็นไปตามใจข้าพเจ้า
ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์เถิด” (ลก22:42)
เราสังเกต
การแสดงออกถึงความนบนอบต่อเสียงของพระเจ้าในลักษณะที่แตกต่างกัน
แม่พระ
ได้ยินสิ่งที่ทูตสวรรค์บอกถึงข่าวดีสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แม่พระไม่ได้รับทันที
มีแสดงความคิด ความรู้สึกถึงสภาพของตนเอง จะเป็นไปได้อย่างไร?
สภาพของตัวเองไม่พร้อม (มี เถียงนิดหน่อย)
แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนต่อความดีของพระเจ้า
นักบุญยอแซฟ ได้ยินเสียงของทูตสวรรค์ และเชื่อฟังทันที
ไม่มีโอกาสโต้แย้ง ไม่มีคำพูดแสดงความรู้สึกนึกคิด และเสียงของพระเจ้ามาในฝันอีกต่างหาก
และท่านก็น้อมรับด้วยใจยินดี
พระเยซูเจ้า มีทางเลือก เมื่อรับรู้พระประสงค์ของพระเจ้า
พระเยซูเจ้าสามารถเลือกได้ว่า จะเอา หรือ ไม่เอา แต่สุดท้ายก็ยอมทิ้งน้ำใจตนเอง
เพื่อให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จไป
เราจะเห็นว่า ความนบนอบ เชื่อฟัง
เป็นการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จไป และสำเร็จไปได้ด้วยดี
และเป็นประโยชน์แก่ทุกคนด้วย นี่คือ พลังแห่งความนบนอบ พลังแห่งการสละน้ำใจตนเอง
การนบนอบต่อเสียงของพระเจ้า
เป็นจุดเริ่มต้นของการนบนอบเชื่อฟังเสียงของมนุษย์ แน่นอนว่า ในครอบครัวของคริสตชน
ความนบนอบเชื่อฟังของบรรดาบุตรทำให้บิดามารดาชื่นใจ ทำให้บิดามารดาเป็นสุขใจ
แต่ตรงกันข้าม ความดื้อรั้น การไม่เชื่อฟัง ความหยิ่งจองหอง มักจะทำให้บิดามารดาเจ็บปวด
เศร้าใจและกังวลใจเสมอ
ปีศาจทำงานในจิตใจมนุษย์ด้วยการแฝงตัวอยู่ในความจองหองเสมอ..(ต้องระมัดระวัง
และรู้เท่าทัน เพื่อเอาชนะมัน)
พระสงฆ์ที่ขาดความนบนอบต่อพระสังฆราชก็เช่น
จะนำความเจ็บปวดมาสู่ครอบครัวของสงฆ์อย่างมาก เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรีย
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2011 ที่ผ่านมา มีบรรดาพระสงฆ์
300 คน จาก 4,200 คน
ต่างพากันแข็งข้อต่อพระสังฆราช โดยมีจุดประสงค์คือ
เรียกร้องให้ปฏิรูปสิ่งที่พระศาสนจักรปฏิเสธ คือ การยกเลิกคำปฏิญาณที่ว่า
พระสงฆ์ต้องนบนอบต่อพระสังฆราช หรือ สนับสนุนให้สตรีบวชพระสงฆ์ได้ หรือ พระสงฆ์สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้
เพื่อแก้ปัญญาพระสงฆ์ขาดแคลน และอื่น ๆ อีก แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ
ยกเลิกการนบนอบต่อพระสังฆราช
คำตอบของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่
16 เมื่อวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ ในมิสซารื้อฟื้นคำปฏิญาณของพระสงฆ์และเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
พระสันตะปาปาตรัสว่า “การไม่นบนอบพระสังฆราชเป็นหนทางสู่การปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างนั้นหรือ?” นี่หมายความว่า
พระสันตะปาปาปฏิเสธที่จะสนับสนุนให้พระสงฆ์แข็งข้อต่อพระสังฆราช เพราะ
การไม่นบนอบไม่ใช่การปฏิรูปพระศาสนจักร
พระสันตะปาปาตรัสว่า “เสรีภาพที่แท้จริงคือ การปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า
ไม่ใช่การทำตามใจตนเอง ซึ่งเท่ากับเป็นบาป ที่ขัดต่อพระประสงค์ของพระเจ้า”
พระเยซูเจ้าทรงเป็นแบบอย่างแก่เรา
และพระองค์แก้ปัญหาระหว่างความนบนอบเชื่อฟังพระบิดาและเสรีภาพที่จะทำตามใจตนเอง
นั่นคือ ความนบนอบเป็นหนทางไปสู่เสรีภาพที่แท้จริง”
น.ออกัสติน
“มนุษย์ได้บ้าคลั่งในอิสรภาพของตน จนหลงผิดไป
เพราะได้ใช้อิสรภาพนั้นเหมือนเป็นนายสูงสุดที่ไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าผู้ทรงสร้างตนเองขึ้นมา
ดังเช่น ซาตานที่หลงทางในทำนองเดียวกัน โดยแสดงความหยิ่งยโส เพราะความยิ่งใหญ่ของตนจนไม่สามารถควบคุมได้
และนำไปสู่การต่อต้านพระเจ้าในที่สุด”
เรา ครอบครัวสงฆ์ เราจะขาดความนบนอบไม่ได้เลย ทั้งต่อตัวเอง
ต่อเพื่อนพี่น้องสงฆ์ และต่อพระสังฆราช
การทำตามหน้าที่
ที่ได้รับหมอบหมาย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานตามลำดับขั้น
เป็นเรื่องของความนบนอบเชื่อฟังและการเรียนแบบชีวิตของพระเยซูเจ้า
ความนบนอบระหว่างพระสงฆ์กับพระสังฆราช
ความนบนอบระหว่างผู้ช่วยเจ้าอาวาส กับเจ้าอาวาส
ความนบนอบระหว่างผู้ช่วยและอธิการ.. ผู้ที่มีตำแหน่งน้อยกว่าหรือต่ำกว่า ย่อมต้อง
นบนอบต่อผู้ที่ปกครอง ดูแลตนเอง จะอ้างเสรีภาพ จะอ้างอิสรภาพ จะอ้างความเสมอภาค
จะอ้างความเท่าเทียมกัน ไม่ได้เลย คนที่อ้างเช่นนี้ แสดงว่า ไม่เข้าใจคำว่านบนอบ
และอิสรภาพ
ตัวอย่าง ในส่วนของผู้ช่วยเจ้าอาวาส
ก็ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย จะทำหน้าที่เหมือนกับเจ้าอาวาสไม่ได้
แม้ว่าเจ้าอาวาสทำงานน้อย แต่ผู้ช่วยทำงานมาก นั่นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
จะเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมกันไม่ได้ เพราะหน้าที่ และขอบเขตของตนเองคือ
ผู้ช่วย
คำพูด คำบอก คำเตือน
และคำสั่งของเจ้าอาวาสต้องถือว่า ผู้ช่วยต้องทำตาม แม้จะขัดต่อเสรีภาพ น้ำใจอิสระ
และอำเภอใจของตนเองก็ตาม เพราะนี่คือ ความนบนอบที่มาจากการนบนอบต่อพระเจ้า..
ความนบนอบ เป็นคุณธรรมสำหรับทุกคน ทั้งคริสตชน นักบวช
และพระสงฆ์ ที่จะต้องนบนอบต่อกันและกัน และเคารพต่อกันและกัน
เคารพในความเป็นบุคคลของกันและกัน บุคคลที่มาจากพระเจ้า
เราจะต้องมีใจดี ใจกว้างต่อพี่น้องของเรา
จะต้องเห็นใจและเข้าใจถึงความต้องการของพี่น้อง เพื่อให้บ้านที่เราอยู่เป็นบ้านที่มีความรัก สามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน แบบอย่างการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายและมีความสุขทั้งในครอบครัว และสังคม สมเด็จพระวันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงตรัสถึงแบบอย่างของบ้านนาซาเร็ธว่า: "บ้านนาซาเร็ธเป็นสถานที่ศึกษาทำให้เราเริ่มเข้าใจชีวิตของพระเยซูเจ้า
และพระวรสารของพระองค์ บทเรียนแรกซึ่งเราเรียน คือ มอง ฟัง
รำพึง และเข้าใจความหมาย ซึ่งทั้งลึกซึ้งและลึกลับ
ด้วยการแสดงของพระบุตรพระเจ้าซึ่งเป็นการแสดงที่ซื่อที่สุด และงดงามที่สุด
เราจะค่อยๆ เลียนแบบพระองค์ทีละน้อย
รุ่นพี่ ขอบคุณรุ่นน้อง สำหรับ
ความร่วมมือ ร่วมแรง และร่วมใจ โดยไม่ปริปากบ่น หรือ บ่น แต่ก็ยังทำ
รุ่นพี่
ขอบคุณรุ่นน้อง แม้จะบ่นก็พร้อมที่จะร่วมงานและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
รุ่นน้อง
ขอบคุณรุ่นพี่ สำหรับ แบบอย่างที่ดี ทั้งคุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความซื่อตรง
และความจริงใจ
รุ่นน้อง
ขอบคุณรุ่นพี่ แม้จะแตกต่างในด้านวัย แต่รุ่นพี่ก็มีน้ำใจ แบ่งปันความยุติธรรม
แบ่งปันความรัก เสมือนคนในครอบครัว
ขอบคุณรุ่นพี่
และรุ่นน้องที่ยังเคารพต่อความเป็นบุคคล ความเป็นสงฆ์
และความเป็นพี่เป็นน้องกันอย่างดีเสมอมา
ครอบครัวจะมีสุข
เมื่อเราแต่ละคนสำนึกว่า เราเป็นครอบครัวเดียวกัน เราเป็นคนบ้านเดียวกันเด้อ..
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น