BLOGGER TEMPLATES AND TWITTER BACKGROUNDS

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทศน์เข้าเงียบประจำปีสงฆ์ 2012


ระหว่างวันที่ 12 -16 พฤศจิกายน 2012  เป็นวันเข้าเงียบประจำปีของพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่ฯ

ณ  สำนักมิสซังท่าแร่ฯ  สกลนคร



บทเทศน์เข้าเงียบประจำปีสงฆ์ท่าแร่
หัวข้อ พระสงฆ์กับปีแห่งความเชื่อ

ตอนที่ 1  ศักดิ์ศรีของสงฆ์

คำถามว่า พระสงฆ์คือใคร? พระสงฆ์คือ คนของพระเจ้า (2ทม 3:17) แท้จริงแล้ว เป็นพระเจ้าเท่านั้นที่ทรงเลือกเขาและเรียกเขาจากมวลมนุษย์ ด้วยกระแสเรียกพิเศษ ไม่มีใครแอบอ้างเกียรตินี้เป็นของตนได้ นอกจากผู้ที่พระเจ้าทรงเรียก (ฮบ 5:4) ด้วยการแยกเขาออกจากทุกคน เขาถูกแยกออกมาเพื่อพระวรสาร (รม 1:1) เขาได้รับเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะคงอยู่ตลอดไปท่านเป็นสมณะตลอดนิรันดร (ฮบ 5:6) และ ด้วยการแต่งตั้งเขาให้มีอำนาจของพระเจ้าในการเป็นสงฆ์แห่งการบิการ เนื่องจากเขาถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระเจ้า พระสงฆ์ได้รับการเลือกจากมวลมนุษย์ให้เป็นผู้แทนมนุษย์ในทุกเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้า เพื่อถวายบรรณาการและเครื่องบูชาชดเชยบาป (ฮบ 5:1)

ผ่านทางศีลบวช พระสงฆ์ได้รับการทำให้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งในวิญญาณและร่างกาย นั่นคือ ศักดิ์สิทธิ์ทั้งครบ ทุกส่วน เป็นภาพเดียวกับพระเยซูเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์จึงมีความสนิทสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระเยซูเจ้า มีส่วนร่วมในกระแสเรียกและพันธกิจเดียวกันกับพระเยซูเจ้า  ในชีวิตทั้งหมดของพระเยซูเจ้า คือ ชีวิตพรหมจรรย์ ยากจน และอุทิศตน  เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าท่ามกลางคนต่างศาสนา (รม 15:16) พระองค์ทรงนำและเป็นอาจารย์ของวิญญาณ

นักบุญเกรโกรีแห่งนิสสาเขียนเกี่ยวกับพระสงฆ์ไว้ว่า เมื่อวานนี้เขาเป็นคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง บัดนี้ได้กลายเป็นอาจารย์ ผู้อยู่สูงกว่าคนอื่น ผู้นำความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นผู้นำธรรมล้ำลึกที่ศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งเขาเป็นผลงานของพระจิตเจ้า
นักบุญยอห์น คริสโซสโตมพูดว่า เขาไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่ทูตสวรรค์ ไม่ใช่อัครเทวดาสวรรค์ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสร้าง แต่พระจิตเจ้าได้ประทับตราให้เขาเป็นพระสงฆ์ 

นักบุญซีเปรียนเขียนอีกว่า พระจิตเจ้าวาดภาพสงฆ์ของพระเยซูเจ้าในจิตวิญญาณของเขา ในรูปแบบที่ว่า พระสงฆ์เมื่ออยู่บนพระแท่นเขาก็กระทำกิจการเดียวกันกับพระเยซูเจ้า

ดังนั้นศักดิ์ศรีของการสงฆ์คือ สงฆ์แห่งสวรรค์(น.กาสซีอาโน)  สงฆ์ศักดิ์สิทธิ์ (น.ดิโอนีซีโอ)  สงฆ์ตลอดนิรันดร (น.เอเฟรม)

น.ออกัสติน กล่าวว่า ศักดิ์ศรีที่น่าเคารพของพระสงฆ์ ผ่านทางพระสงฆ์ พระหัตถ์ของพระบุตรของพระเจ้าได้ลงมาบังเกิดเหมือนในครรภ์ของพระนางพรหมจารีย์

น.ฟรังซิสโก แห่งอัสซีซี กล่าวว่า ในพระสงฆ์ ข้าพเจ้าเห็นพระบุตรของพระเจ้า
เจ้าอาวาสเมืองอาร์ส เทศน์ว่า ทุกครั้งที่พวกเราเห็นพระสงฆ์ นั่นคือการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า และกล่าวอีกว่า ถ้าตัวข้าพเจ้าพบพระสงฆ์คนหนึ่งกับทูตสวรรค์องค์หนึ่ง ข้าพเจ้าจะเคารพพระสงฆ์ก่อน จากนั้นจึงจะเป็นทูตสวรรค์... พระสงฆ์มีกุญแจที่จะเปิดขุมทรัพย์แห่งเมืองสวรรค์

นี่คือ เกียรติ ศักดิ์ศรี นี่คือความเป็นสงฆ์ของพระสงฆ์ ซึ่งบรรดานักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร บรรดานักบุญทั้งหลายต่างให้ความเคารพ และยกย่องในเกียรติ ในศักดิ์ศรีที่มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งได้รับผ่านทางองค์พระจิตเจ้าเพื่อทำหน้าที่เสมือนพระคริสตเจ้า

ที่ผมได้นำเอาคำพูดของบรรดานักปราชญ์ นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์มายกตัวอย่างในวันนี้นั้น เป็นเสมือนการรื้อฟื้นชีวิตแห่งการเป็นสงฆ์ของเรา เพื่อให้เกิดความตระหนักให้มากยิ่งขึ้นว่า การเป็นสงฆ์นั้น หน้าที่สำคัญคือ การชิดสนิทสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้า ศักดิ์ศรีของการเป็นสงฆ์ไม่ใช่มาจากความรู้ ความสามารถ ความเก่ง ความชำนาญ ที่เป็นของเรามนุษย์ แต่ความเป็นสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติมาจาการชิดสนิทกับพระคริสตเจ้า  มาจากการติดตามองค์พระเยซูเจ้า สงฆ์นิรันดรของเรา

ที่ผมได้นำเอาคำพูดเหล่านี้มา เพื่อรื้อฟื้นถึงศักดิ์ศรี และคุณค่าของความเป็นพระสงฆ์ เพื่อจะได้ไม่ทำให้ความเป็นสงฆ์ลดลงไป อันเนื่องมาจากวิสัยตามประสามนุษย์ หรือธรรมชาติของมนุษย์ ในด้านอารมณ์ ในด้านความรู้สึก ในด้านการเป็นตัวของตัวเอง เพื่อพระสงฆ์จะได้ตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของตนเองอยู่เสมอ ความบาป และความอ่อนแอที่เจตนา รวมทั้งความเมินเฉย หรือความไม่ใส่ใจ หรือแม้กระทั่งการปล่อยเนื้อปล่อยตัว ไม่ควบคุมตนเอง ลืมสถานะของตนเอง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้คุณค่าของสงฆ์ลดลงไปก็ได้

ปีนี้เป็นปีแห่งความเชื่อ พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ประกาศ เพื่อให้บรรดาคริสตชนได้หันมามองดูความเชื่อของตนเอง ได้รื้อฟื้นความเชื่อของตนเองเป็นพิเศษ และเราทุกคนที่เป็นพระสงฆ์ เราก็เป็นคริสตชน จึงจำเป็นและสำคัญด้วยว่า พระสงฆ์ก็ควรที่จะรื้อฟื้นและไตร่ตรองความเชื่อของตนเองว่า เราเป็นสงฆ์ ความเชื่อของเราหนักแน่นเพียงพอไหม?  เพราะหลายครั้งเราเองก็ดำเนินชีวิตตามประสาของคนโลก นั่นคือ แสวงหาความสุขให้กับตนเองจากวิธีการทางโลกมากกว่าที่จะแสวงหาความสุขให้กับตนเองจากวิธีการของพระเจ้า เช่น การเที่ยว การกิน การดื่ม การออกจากวัด การอยู่กับคนที่เราสบายใจ เป็นการพักผ่อน  ทำไมการเฝ้าศีล การเข้าเงียบ การอยู่คนเดียว รำพึงภาวนา จึงไม่ใช่การพักผ่อนของเรา เพราะนี่คือ แนวทางการสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า

ตอนที่ 2 คัดจากพระสมณลิขิต Porta Fidei  พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

PF 1 ประตูแห่งความเชื่อ (กจ 14:27) เปิดอยู่เสมอสำหรับเรา.. 
ในพระวรสารนักบุญยอห์น พระเยซูเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นประตู 2 ครั้ง คือ
·       พระเยซูเจ้าทรงเป็นประตูคอกแกะ (ยน 10:7)
·       พระเยซูเจ้าทรงเป็นประตู (ยน 10:9)
เราจะพบว่า การเป็นประตูของพระเยซูเจ้านี้ พระองค์ทรงเป็นประตูเพื่อทำให้เกิดชีวิต ผู้ที่เข้าออกผ่านทางประตูนี้จะมีชีวิต ผู้ที่เดินทางเข้ามาทางประตูนี้ก็จะรอดพ้น เขาจะพบทุ่งหญ้า การเข้าการออกทางประตู ก็คือ เจ้าของ แต่คนที่เข้าออกทางอื่นที่ไม่ใช่ประตูคือ ขโมยและโจร ที่จ้องจะทำลายและลักขโมยเท่านั้น
พระสันตะปาปาบอกว่า ประตูแห่งความเชื่อเปิดอยู่เสมอสำหรับเรา พร้อมที่จะนำเราไปสู่ชีวิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้า
เราจึงเห็นว่า ผู้ที่ผ่านประตูแห่งความเชื่อนี้ ก็คือ ชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ประตูนี้มีหน้าที่ที่นำเราไปสู่ความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้า
·       พระสงฆ์เป็นเสมือนประตูแห่งความเชื่อ
มองดูชีวิตของพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน พระสงฆ์เป็นประตูแห่งความเชื่อ เพราะผ่านทางชีวิตของพระสงฆ์ บรรดาผู้มีความเชื่อเป็นหนึ่งเดียวกับ พระเจ้า ผ่านทางมือสองข้างของพระสงฆ์ บรรดาสัตบุรุษได้รับพระหรรษทานและความศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้น หน้าที่ของพระสงฆ์ คือ นำสัตบุรุษให้มีความเชื่อ กระตุ้นให้ความเชื่อเข้มแข็ง และมุ่งไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ผ่านทางการบริการศีลศักดิ์สิทธิ์ และผ่านทางชีวิตที่เป็นพยาน ชีวิตที่เป็นแบบอย่างแห่งความเชื่อให้กับบรรดาสัตบุรุษ 
ประตูแห่งความเชื่อเปิดอยู่เสมอ สำหรับทุกคน ชีวิตของพระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน จะต้องเปิดออกสู่ทุกคน ทุกคนสามารถเข้าออก เดินทางข้าม ผ่านในชีวิตของพระสงฆ์ เพื่อที่จะได้ลิ้มรสความเชื่อของพระสงฆ์และความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
พระสงฆ์ต้องพร้อมที่จะบริการความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับประตูที่เปิดอยู่เสมอ พระสงฆ์ต้องพร้อมที่จะต้อนรับทุกคน เพื่อให้เขาได้รู้จักและพบกับพระเจ้า เมื่อเข้ามาพบพระสงฆ์ รู้จักพระสงฆ์ เราจะต้องทำให้เขาเห็นถึงพระคริสตเจ้าให้ได้ในตัวของเรา
เพราะพระเยซูเจ้าตรัสว่า พระองค์ทรงเป็นประตู เพื่อผู้ที่เข้าออกจะได้รอดพ้น จะพบทุ่งหญ้า พบความอุดมสมบูรณ์ในจิตวิญญาณ

PF 3  เกลือไร้รสชาติหรือแสงสว่างถูกซ่อนไว้ไต้ถัง
พระสันตะปาปาตรัสว่า เราไม่อาจยอมรับได้ว่า เกลือนั้นไร้รสชาติ และแสงสว่างถูกซ่อนไว้ใต้ถัง เพราะในเอกลักษณ์ หรือในความเป็นของเกลือก็คือ ความเค็ม  และแสงสว่างก็คือ การเปิดเผย
พระสงฆ์เยซูอิตท่านหนึ่ง คพ.ยอห์น ฮาร์ดัน พูดว่า ความน่าเศร้าสลดที่สุดในโลกของเรานี้ก็คือ พระสงฆ์หมดความเป็นสงฆ์
ในพระวรสารนักบุญมัทธิว พระเยซูเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลายเป็นเกลือดอกแผ่นดิน ถ้าเกลือจืดไปแล้ว จะเอาอะไรมาทำให้เค็มอีกเล่า..นอกจากจะถูกทิ้งให้คนเหยียบย่ำ  ท่านทั้งหลายเป็นแสงสว่างส่องโลก ไม่มีใครจุดตะเกียงแล้วเอามาวางไว้ไต้ถัง แต่ย่อมตั้งไว้บนเชิงตะเกียง จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนในบ้าน (มธ 5:13-15)
                พระสันตะปาปาบอกว่า รับไม่ได้กับการเสียคุณค่าในตัวเอง หรือการทิ้งเอกลักษณ์ของตนเอง นั่นคือ หากพระสงฆ์ทิ้งศักดิ์ศรี ทิ้งความเป็นสงฆ์ เหยียบย่ำเอกลักษณ์ของตนเองด้วยการกระทำที่ไม่ควรทำ ด้วยการไม่รักษาความเค็มของตนเองเอาไว้  ด้วยการทำลับ ๆ ล่อ ๆ ปิดบัง ซ่อนเร้น ไม่กล้าเปิดเผยความจริง ไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริงของชีวิต
                เกลือรักษาความเค็ม เพื่อดองแผ่นดิน เหมือนกับความเชื่อในชีวิตของพระสงฆ์ที่จะต้องเข้มข้นอยู่เสมอ พระสันตะปาปาประกาศให้คริสตชนรื้อฟื้นความเชื่อของตนเองตลอดปีนี้ แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่คริสตชน แต่ยังหมายถึงพระสงฆ์ด้วย ที่ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับความเชื่อของตนเองด้วยการดำเนินตามความเชื่อ พระสงฆ์ต้องใส่ใจและฟื้นฟูความเชื่อไม่ให้เป็นเหมือนกับเกลือที่จืดจางที่จะนำมาแต่การเหยียบย่ำเท่านั้น
                แสงสว่างส่องโลก ส่องสว่างแก่ทุกคน... การดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ เป็นการดำเนินชีวิตเหมือนกับตะเกียงที่จุดอยู่ (ตั้งแต่บวช) แสงสว่างของตะเกียงจะส่องสว่างเสมอ และจะไม่มีสิ่งใดที่จะปิดบังหรือซ่อนแสงสว่างของการเป็นสงฆ์ได้ เพราะแสงสว่างของการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ แตกต่างจากแสงสว่างแห่งความดีของคริสตชน เนื่องจากชีวิตของพระสงฆ์เป็นชีวิตที่เปิดเผย เป็นชีวิตสาธารณะ เป็นชีวิตเพื่อคนอื่น ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องการแสงสว่างของชีวิตพระสงฆ์
                ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราจึงไม่ยอมกลับใจ? ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราความเชื่อจึงไม่เข้มแข็ง? ทำไมสัตบุรุษในวัดของเราจึงทะเลาะเบาะแว้งกัน?  เพราะพระสงฆ์เจ้าวัดไม่กลับใจ เพราะพระสงฆ์เจ้าวัดความเชื่อไม่เข้มแข็งพอ เพราะความเชื่อของเจ้าวัดยังขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า...หรือไม่สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระเจ้า
                พระสงฆ์เทศน์สอนสัตบุรุษให้ถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า.. แต่ พระสงฆ์เองบางครั้งก็ไม่ถือตามพระบัญญัติของพระเจ้า เช่น อย่าลักขโมย เงินวัด เงินทาน เงินมิสซา เงินกลุ่ม เงินกองกลาง เงิน pastoral gas - ถามหาความซื่อสัตย์ ไม่ใช่ข้อแก้ตัว พระสงฆ์ก็คนมีความอ่อนแอ.. เป็นต้น แม้แต่ขีดเดียว พระสงฆ์ก็ควรไม่ละเว้น..

PF 7  เพราะความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา (2คร 5:14)
ในทำนองเดียวกัน อาศัยความรักของพระองค์ พระคริสตเจ้าจึงดึงดูดประชากรทุกชาติทุกภาษาให้เข้ามาหาพระองค์
ก่อนที่เราจะถูกผลักดันออกไป ประกาศความรัก แน่นอว่า ความรักต้องดึงดูดเราเสียก่อน
ความรักของพระคริสตเจ้าดึงดูดเราเข้ามาหาพระองค์ ดึงดูดเราให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ และดึงดูดเราให้เราติดตามพระองค์ในฐานะของการเป็นพระสงฆ์ และเพราะความรักของพระคริสตเจ้านี้เองที่อยู่ในตัวของเรา ที่ดึงดูดบรรดาสัตบุรุษเข้ามาหาเรา เพราะเราเป็นเสมือนทางผ่าน ให้บรรดาสัตบุรุษที่มาหาเรานั้นไปพบกับความรักของพระคริสตเจ้า
ชีวิตของพระสงฆ์ มีความรักของพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพเต็มเปี่ยม และการที่ผู้คนเข้ามหาเรา เข้ามาเคารพ เข้ามาไหว้ เข้ามาขอพรจากเรา ไม่ใช่เพราะตัวตนของเรา แต่เพราะความรักของพระคริสตเจ้า หลายครั้งเราหยุดแค่นี้ สัตบุรุษชายหญิงเข้ามาพบปะ พูดคุยกับพระสงฆ์ หลายครั้งเรานำความรักของเราเอง (ตามประสามนุษย์) ออกมาให้สัตบุรุษได้เห็น แทนที่เราจะนำเสนอความรักของพระคริสตเจ้า แทนที่เราจะเปิดเผยถึงความรักของพระคริสตเจ้า  เมื่อหยุดแค่ตัวของพระสงฆ์ ปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะความรักผลักดันเรา ให้แสดงความรักของเราต่อคนอื่น..  แท้จริงแล้ว ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา ให้เราแสดงความรักของพระองค์แก่มนุษย์

ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา มีข้อความต่อไปอีกว่า เราแน่ใจว่า ถ้าคนหนึ่งตายเพื่อทุกคน ก็เหมือนกับว่าทุกคนได้ตายด้วย หมายความว่า ถ้าพระสงฆ์ตายต่อตัวเอง ตายต่อความบาป ตายต่อความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม แน่นอนว่า บรรดาสัตบุรุษก็ย่อมตายต่อตัวเองได้เช่นเดียวกัน  
ดังนั้น ความรักของพระคริสตเจ้าผลักดันเรา ก็คือ การที่พระสงฆ์คนหนึ่งเป็นพยานถึงพระเจ้าด้วยการดำเนินชีวิตในความรักของพระคริสตเจ้า เพื่อคนต่างศาสนาจะได้เห็นถึงความรักของพระเจ้า
คำว่า ประตูแห่งความเชื่อ แท้จริงแล้ว ในต้นฉบับ หรือ เนื้อหา หรือ บริบทของตัวบท ได้พูดว่า พระเจ้าทรง ประตูแห่งความเชื่อให้คนต่างศาสนา (กจ 14:27) มีภาพเดียวกันนี้ปรากฏอีกว่า มีประตูเปิดอยู่ให้ข้าพเจ้า เป็นประตูใหญ่และให้ผล (1คร 16:9)  
และ จงภาวนาสำหรับเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะทรงเปิดโอกาสให้เราประกาศพระวาจาสอนธรรมล้ำลึกเรื่องพระคริสตเจ้า (คส 4:3)

ผู้มีความเชื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองด้วยการเชื่อ
ขอให้ปีแห่งความเชื่อประทานความสัมพันธ์ของเรากับพระคริสตเจ้า จงได้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น


0 ความคิดเห็น: